xs
xsm
sm
md
lg

เกษตร มช.-สวทช.ภาคเหนือเจ๋ง! ต่อยอด วิจัยสอนผลิตอาหารสัตว์จากเปลือกข้าวโพดแทนเผาลดหมอกควัน(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จับมือ สวทช.ภาคเหนือ เผยแพร่ผลงานการวิจัยสู่การปฏิบัติจริง วิธีการผลิตอาหารสัตว์จากเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการเผา ช่วยลดปัญหาหมอกควัน



ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภาคเหนือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดกิจกรรมจิตอาสา “ร่วมใจลดหมอกควันร่วมกันผลิตอาหารสัตว์จากเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : อาหารสัตว์รักษ์โลก” ที่บริเวณโรงเรือนโคเนื้อ CMU BEEF สถานีวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
โดยนำบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษา และบุคลากรของ สวทช.ภาคเหนือร่วมกันเป็นจิตอาสา และร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การผลิตอาหารสัตว์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อลดการเผา” เพื่อแนะนำเทคโนโลยี และเห็นความสำคัญของการนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์เพื่อทดแทนการเผา

ดร.มนตรี ปัญญาทอง ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยเฉพาะเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มต้นของงานวิจัยที่มีความต้องการลดปัญหาหมอกควัน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ที่ขณะนั้นมีปัญหาเรื่องหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ปัญหาหลักๆ มาจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ เปลือกข้าวโพดที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคเหนือ ปริมาณเปลือกข้าวโพดแต่ละปีจึงมีอยู่หลายหมื่นตัน

จึงได้มีการนำไปทำเป็นปุ๋ย พืชชีวมวล แต่ก็ยังพบว่ามีปริมาณที่เหลืออยู่จำนวนมาก สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องนำมาเผาทิ้ง ดังนั้นจึงมีการหาเทคโนโลยี หรือวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยการนำเปลือกข้าวโพดเหล่านี้มาทำเป็นอาหารสำหรับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ โดยมีการใช้ในลักษณะที่เป็นเปลือกแห้ง และนำมาปรับสภาพเป็นอาหารหมักเพื่อเพิ่มคุณค่า ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการใช้เปลือกข้าวโพดให้เป็นประโยชน์แทนการเผา

สำหรับกระบวนการผลิต จะมีการนำเปลือกข้าวโพดมาหมักกับกากน้ำตาล รำข้าว และหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกระบวนการหมัก โดยสัดส่วนน้ำหนักเปลือกข้าวโพด 100 กิโลกรัมจะใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์อยู่ที่ 100 กรัม กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม และรำละเอียด 1 กิโลกรัม มีต้นทุนไม่เกิน 20 สตางค์/กิโลกรัม เพิ่มจากราคาของเปลือกข้าวโพดปกติซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาท

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตดังกล่าวมีความแตกต่างจากเปลือกข้าวโพดแห้งปกติ ที่มีโปรตีนอยู่ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่หากผ่านกระบวนการหมักแล้วจะมีโปรตีนเพิ่มขึ้น 4-5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการและความน่ากินมากขึ้นด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น