จันทบุรี - หน่วยงานเกี่ยวข้องใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ร่วมแถลงข่าวการเตรียมการจัดงาน “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท” สืบสานประเพณีแห่งศรัทธา สัมผัสวิถีแห่งบุญมหาสงกรานต์ชุมชนคนตะปอน หนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย.นี้
วันนี้ (15 มี.ค.) นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย นายสมชาย ลี้วงศกร นายอำเภอขลุง น.ส. เกตน์สิรี สมบูรณ์ศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ่พระบาท” ที่วัดตะปอนน้อย อ.ขลุง จ.จันทบุรี งานดังกล่าวถือเป็นประเพณีประจำถิ่นของชาวชุมชนตะปอน ที่สืบทอดกันมานับ 100 ปี
โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 พื้นที่จัดงานมหาสงกรานต์ 5 ภาคประจำปี 2561 ภายใต้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ ประเพณีฉุดพระ หรือการชักเย่อเกวียนแห่ผ้าพระบาท ซึ่งสืบสานมาอย่างยั่งยืนด้วยความเข้มแข็งของชุมชน
ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญในการเผยแพร่ประเพณีอันทรงคุณค่า และยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวของชุมชนตะปอน อ.ขลุง อันจะนำมาซึ่งการสร้างโอกาส และกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่อย่างแท้จริง และยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีสู่ลูกหลานอย่างยั่งยืนอีกด้วย
สำหรับงาน “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย.นี้ ที่ถนนสายวัฒนธรรม โดยร้อยเรียงประวัติศาสตร์ ประเพณีของชุมชน 3 วัด คือ วัดตะปอนน้อย วัดตะปอนใหญ่ และวัดเกวียนหัก ซึ่งทั้ง 3 วัด มีความสำคัญ และประวัติศาสตร์อันยาวนานคู่กับชุมชน ภายในงานจะมีพิธีบวงสรวงขบวนเกวียนแห่ผ้าพระบาทจำลอง กิจกรรมแสงเสียงตามรอยทัพพระเจ้าตากสิน บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิต และตำนานพระบาทผ้า ณ วัดเกวียนหัก สัมผัสบรรยากาศตลาดโบราณ 270 ปี และการก่อพระเจดีย์ทราย จำนวน 2561 กอง ณ วัดตะปอนใหญ่
นอกจากนั้น ยังจะมีพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนแต่งกายด้วยชุดโบราณย้อนยุคขายอาหารโบราณทั้งคาว และหวาน รวมถึงผักท้องถิ่นภายในชุมชน พร้อมสัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่เป็นไปด้วยความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความน่ารัก ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนยังได้ร่วมสัมผัสกิจกรรมการแข่งขันชักเย่อเกวียนผ้าพระบาท รวมถึงการมีส่วนร่วมในการชักเย่อเกวียน ตามความเชื่อ ความศรัทธาอันเข้มแข็งของชุมชนที่มีต่อผ้าพระพุทธบาทจำลองว่าจะดลบันดาลความเป็นสิริมงคล ส่งเสริมให้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัยต่างๆ