ศูนย์ข่าวศรีราชา- เมืองพัทยา เสนอของบประมาณกว่า 1.4 พันล้านบาท ในการจัดการปัญหาขยะชุมชน ขณะที่สภาเมืองพัทยา ติงราคาสูงและผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทย ให้ศึกษาและพิจารณาหารือข้อกฎหมายใหม่
วันนี้ ( 10 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พลตำรวจตรี บัญฑิต คุณจักร์ รองนายกเมืองพัทยา เกี่ยวกับการประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ว่าได้มีการนำเสนอญัตติขออนุมติโอนงบประมาณไปตั้งจ่ายเป็นรายการใหม่และขอรับความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ ในงบประมาณรวม 1,433 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างเอกชนในการเก็บขนขยะมูลฝอย งานบริหารสถานี งานขนถ่ายและกำจัดมูลฝอย และงานเก็บขน และกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ในระยะเวลา 4 ปี 11 เดือน โดยได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565
"กรณีดังกล่าว สมาชิกสภาเมืองพัทยาหลายคน ได้กล่าวอภิปรายในที่ประชุมว่าปัจจุบันปัญหาขยะเมืองพัทยา ที่มีมากถึงวันละกว่า 450 ตัน ที่ผ่านมาได้มีการจัดจ้างภาคเอกชนเข้ามาเก็บขนไปกำจัดในสัดส่วน 70 % แต่แผนการดำเนินการใหม่นี้ จะเป็นการขนขยะออกนอกเขต ซึ่งขัดต่อประกาศของกระทรวงมหาดไทยในข้อ 14 โดยมีแผนที่จะขนไปกำจัดในพื้นที่ของ จ.ระยอง ซึ่งคิดอัตราการดำเนินการอยู่ที่ตันละ 1,900 บาท และ จ.สมุทรปราการ ในอัตราตันละ 2,115 บาท ซึ่งแพงว่าเดิมเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับพื้นที่ของนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ ที่ห่างจากเมืองพัทยาเพียง 30 กิโลเมตร จะมีการจัดทำที่ฝังกลบและทำขยะแบบ RDF ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงตันละ 400 บาทเท่านั้น แต่ก็เป็นการดำเนินงานนอกเขตเหมือนกันแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเมืองพัทยาไม่หารือเพื่อดำเนินการใช้พื้นที่ใกล้เคียงที่พร้อมรับขยะไปกำจัด แทนที่จะขนถ่ายไปยังพื้นที่ห่างไกลซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก"พลตำรวจตรี บัญฑิต กล่าว
ด้าน พลตรีภพอนันฒ์ เหลืองภานุวัฒน์ รองประธานสภาเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน แต่ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดเมืองพัทยา จึงต้องการให้การขนถ่ายและกำจัดมีราคาแพง ทั้งนี้ในพื้นที่ของนาวิกโยธิน ที่เรียกว่า “นาวิกนคร” ที่มีการบริหารจัดการขยะอยู่นั้น อยู่ใกล้กับเมืองพัทยาและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก ที่สำคัญทางกองทัพเรือก็อนุมัติให้ใช้พื้นที่ได้ เพียงขอให้เมืองพัทยาทำหนังสือหรือทำ MOU ร่วมกันเท่านั้น
“การขนถ่ายขยะมูลฝอยข้ามเขตเหมือนพื้นที่อื่นๆ แต่จะได้ประโยชน์จากเรื่องของการประหยัดในเรื่องระยะทาง น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก ซึ่งหากติดข้อกฎหมายก็ประสานหารือทางกระทรวงมหาดไทยว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งมองว่าหากทำได้เมืองพัทยาก็จะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะงบประมาณใหม่ที่ขอจะใช้งบกว่า 1,433 ล้านบาท ขณะที่งบเดิมใช้เพียง 803 ล้านบาทเท่านั้น”พลตรีภพอนันฒ์ กล่าว
ด้าน นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย การขนถ่ายขยะไปทิ้ง พื้นที่ที่ดำเนินการจะองมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และการดำเนินงานจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.สาธารณะสุขด้วย แต่ก็พบว่าหลายแห่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนด อีกทั้งระยะเวลาดำเนินการก็เป็นเป็นแบบเร่งรัด จึงทำให้ต้องเร่งจัดทำ TOR ให้แล้วเสร็จเพื่อจัดการปัญหาขยะโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามสมาชิกสภาได้เสนอให้ฝ่ายบริหารร่วมกับกลุ่มนักกฎหมาย ทำหนังสือสอบถามผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าจะสามารถดำเนินการขนถ่ายขยะมูลฝอยไปยังพื้นที่ของนาวิกโยธินได้หรือไม่ เพราะทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว ขณะที่การจัดทำ TOR นั้น ต้องรัดกุมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของเมืองพัทยาเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาและความผิดพลาดหลายด้าน อาทิ การบริหารจัดเรื่องของชั่งน้ำหนักของรถขนถ่าย บริเวณสถานีพักขยะสุขุมวิทซอย 3 ซึ่งพบว่าการดำเนินการทั้งหมดทำโดยเอกชน ทั้งการชั่ง การคิดเงิน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาเข้าไปกำกับดูแล ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วปริมาณขยะและการเรียกเก็บค่าบริการซึ่งคิดตามน้ำหนักขยะนั้นก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
โดยผู้สื่อข่าวรายงนเพิ่มเติมว่า ก่อนปิดการประชุม ฝ่ายบริหาร ได้ขอถอนญัตติดังกล่าวออกจากที่ประชุมสภาเพื่อนำกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อให้มีการนำเสนอพิจารณาในครั้งต่อไป