ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนำแถลงผลงานร่วมตำรวจเชียงใหม่และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ บุกเข้าตรวจค้นจับกุมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณลดความอ้วน มีส่วนผสม “ไซบูทรามีน” ทำคนกินเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ยึดของกลาง 1.6 ล้านเม็ด มูลค่าหลายล้านบาท พร้อมเดินหน้ารับเป็นคดีพิเศษ หลังพบมีการโฆษณาขายแพร่หลาย มุ่งเป้าจำหน่ายให้นักเรียน นักศึกษา และผู้หญิงวัยทำงานที่ต้องการลดความอ้วน
วันนี้ (8 มี.ค. ) ที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 5 กรมสอบสวนคดีพิเศษ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยตัวแทนตำรวจภูธรภาค 5, ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดความอ้วนรายใหญ่ พร้อมตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบข้อมูลว่า ในจังหวัดเชียงใหม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณลดความอ้วนต้องสงสัยหลายผลิตภัณฑ์ จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อสืบสวน
ทั้งนี้ จากการสืบสวนพบว่ามีผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ไฮ เฮิร์บ สลิมมิ่ง (Hi Herb Slimming) ของบริษัท เอ็ม จำกัด โดยมีเจ้าของผลิตภัณฑ์คือ นางสาวเอส (นามสมมติ) และนายเอ (นามสมมติ) เป็นเจ้าของกิจการ มีการลักลอบนำสารไซบูทรามีนผสมและใช้เลข อย.ปลอม มีเป้าหมายในการจำหน่ายให้แก่นักเรียน นักศึกษา ผู้หญิงวัยทำงาน และได้เผยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันสืบสวนหาแหล่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จากการสืบสวนพบว่าการฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้นของผู้ประกอบการเป็นความผิดตามกฎหมายที่อยู่ในบัญชีท้ายประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)
โดยวานนี้ (7 มี.ค.) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อำนวยการให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับ พ.ต.ท.สมพร ชื่นโกมล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 5 (เชียงใหม่) ผสานกำลังร่วมกับนายอิศรา นานาวิชิต เภสัชกรเชี่ยวชาญสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ นำหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงใหม่เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 3 เป้าหมาย
เป้าหมายแรกที่บ้านเลขที่ 361/89 หมู่ 7 ซอยยุพิน ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถจับกุมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อไฮเฮิร์บ สลิมมิ่ง 100,000 เม็ด และซองเปล่าเตรียมบรรจุมากกว่า 50,000 ซอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อไอโกะ มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท เป้าหมายที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 88/3 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี เพราะผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อไฮเฮิร์บ สลิมมิ่ง และอาหารเสริมยี่ห้อไอโกะอีกจำนวนหนึ่ง และเป้าหมายที่ 3 บ้านเลขที่ 477/101 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อไอโกะ พร้อมลังบรรจุพร้อมจำหน่ายอีก 106 ลังประมาณ 1,500,000 เม็ด มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้อายัดไว้ตรวจสอบ
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยว่า เบื้องต้นตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้มีสารไซบูทรามีนที่เป็นยาควบคุมพิเศษ การจับกุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการจับกุมแหล่งผลิตอาหารเสริมลดความอ้วนที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่ากลุ่มขบวนการอาจจะหลีกเลี่ยงการตรวจค้นและจับกุมของทางเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการจับกุมได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น พบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อดังกล่าวยังมีการโฆษณาขายผ่านทางโลกออนไลน์รวมทั้งทางสื่อมวลชนอย่างเปิดเผย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และบรรดาวัยรุ่นที่ต้องการจะลดความอ้วนอยากจะมีรูปร่างดี ตอนนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษไว้ขยายผลต่อ
ด้านนายอิศรา นานาวิชิต เภสัชกรเชี่ยวชาญ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับสารไซบูทรามีนเป็นยาควบคุมพิเศษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนผสมสำคัญของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจัดทำออกจำหน่ายให้นักเรียน นักศึกษา ผู้หญิงวัยทำงานและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด เมื่อรับประทานแล้วจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาททำให้นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง ทำให้น้ำหนักลดลง เพราะสารเคมีดังกล่าวจะไปกดประสาททำให้ไม่อยากอาหาร มีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหารเสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดตีบตัน และทำให้เสียชีวิตในที่สุด จากข้อมูลของ อย.พบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตแล้วหลายรายจากการกินอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารชนิดนี้
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีอันตรายต่อผลข้างเคียงมากที่สุดจะเป็นกลุ่มของผู้ป่วยโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ ซึ่งหากรับสารไซบูทรามีนในปริมาณที่มากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้ จึงถือว่าเป็นสารที่มีความอันตรายต้องควบคุมให้ใช้ในด้านการแพทย์เท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้ ซึ่งที่บรรจุภัณฑ์มีตรา อย.ด้วยนั้นจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่ามีการขอใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป