xs
xsm
sm
md
lg

จ่อยกระดับ “ยาวัณโรค-ยาปฏิชีวนะ” บางตัวในร้านยา ให้ใช้ รพ.เท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. จ่อประชุม คกก.ยา ยกระดับ “ยาปฏิชีวนะ” บางตัวในกลุ่มยาอันตรายที่ขายในร้านขายยา มาเป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้เฉพาะใน รพ. เท่านั้น เน้นยาที่ส่งผลต่อการรักษาโรคยาก และยารักษาวัณโรค พร้อมจัดทำสื่อบนรถเมล์ 3 รูปแบบ จำนวน 30 คัน ครอบคลุม 7 สาย หวังประชาชนเข้าใจใช้ยาสมเหตุผล ลดใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ลดก่อเชื้อดื้อยา

วันนี้ (21 มี.ค.) นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวโครงการ “ชั่งใจก่อนใช้ยา ธีม...ลดภัยร้ายเชื้อดื้อยา ปวงประชาสุขภาพดี” โดยมีการเปิดตัวสื่อรณรงค์เพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างปลอดภัย และอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ จำนวน 3 รูปแบบ คือ 1. ยาปฏิชีวนะ ใช้ถูกเป็นมิตร ใช้ผิดเป็นภัย 2. โรคนี้หายเองได้ กินยาปฏิชีวนะไปไร้ประโยชน์ และ 3. ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ตกเป็นเหยื่อ เชื้อดื้อยา พร่ำเพรื่อ โดยจะติดสื่อดังกล่าวในรถโดยสารประจำทางที่มีเส้นทางเดินรถต้นทาง - ปลายทาง ระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 7 สาย รวม 30 คัน ได้แก่ สาย ปอ.29 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) - หัวลำโพง สาย ปอ.40 ลำสาลี - สายใต้เก่า สาย ปอ.27 มีนบุรี - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สาย ปอ.203/1 อ.ต.ก.- สนามหลวง สาย ปอ.522 รังสิต - อนุสาวรีย์ชัยฯ สาย ปอ.558 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - เซ็นทรัลพระราม 2 และ สาย ปอ.18/1 ท่าอิฐ - อนุสาวรีย์ชัยฯ

นพ.วันชัย กล่าวว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของเชื้อแบคทีเรีย หรือปัญหาเชื้อดื้อยานั้น ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก หากไม่รณรงค์ลดกรใช้ยาปฏิชีวนะ อาจทำให้การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มียาในการรักษาอีก โดยปัจจุบันพบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 7 แสนคน หากไม่เร่งแก้ปัญหาคาดว่าในปี 2593 จะมีผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยประมาณการว่า มีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 8.8 หมื่นคน เสียชีวิตปีละประมาณ 3.8 หมื่นคน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ และปักหมุดหยุดเชื้อดื้อยา โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อทำยุทธศาสตร์ปี 2560-2564

นพ.วันชัย กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องลดปัญหาเชื้อดื้อยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลงานของสถานพยาบาล นอกจากนี้ ยังต้องเร่งแก้ไขความเชื่อของประชาชนว่า โรคบางโรคสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ เช่น ไข้หวัด ไอ เจ็บคอ แผลสด และท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยการเพิ่มสื่อรณรงค์อีกช่องทางคือการทำสื่อภายในรถเมล์ ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้ติดโปสเตอร์ในรถเมล์ทั้ง 30 คันแล้ว และเริ่มวิ่งตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา กำหนดระยะเวลา 3 เดือน คือ ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2561 โดยหวังว่าผู้ดยสารจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องสมเหตุผล ซึ่งเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดบนโปสเตอร์จะได้รับข้อมูลทั้ง 3 แบบลงในสมาร์ทโฟนทันที สามารถเปิดอ่านได้ตลอดเวลา

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันยามีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. ยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้มีการใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น 2. ยาอันตราย อนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาล และจำหน่ายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรเท่านั้น 3. ยาสามัญประจำบ้าน และ 4. ยาอื่นๆ โดยยาปฏิชีวนะจะจัดอยู่ในประเภทยาควบคุมพิเศษและยาอันตราย จึงไม่อนุญาตให้ขายในร้านขายของชำเด็ดขาด ส่วนในร้านขายยาประเภท 2 ที่ไม่มีเภสัชกรประจำ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2 พันกว่าร้าน ยังมียาปฏิชีวนะขายอยู่ คือ ยาอะม็อกซีซิลิน แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นยาอันตรายมาก และก็มีการอบรมผู้ขาย จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่าการลอบขายในร้านขายของชำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะกรรมการยากำลังมีการทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะบางตัว เพื่อยกสถานะจากที่อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยามาเป็นการใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ยาที่จะยกระดับจากร้านขายยามาเป็นยาเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น คือ 1. ยาที่มีผลต่อการรักษาโรคยากในโรงพยาบาล และ 2. ยารักษาวัณโรค โดยการวัณโรคจะมีหลายตัวยาผสมกัน แต่มีบางตัวยาที่มีการนำมาใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาไข้หวัด ท้องเสีย และมีการขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ จึงจะมีการยกระดับขึ้นมา เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาโรควัณโรค และแนวโน้มเชื้อวัณโณคดื้อยาสูง

ด้าน นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จะไม่มีการอนุญาตให้มีการขายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำ แต่ยังในพื้นที่ชนบทหรือต่างจังหวัดที่มักพบว่าไม่ค่อยมีร้านขายยา ยังคงมีการขายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำอยู่ อย่างล่าสุดตนเพิ่งไป จ.ขอนแก่น พบว่ามีการขายอยู่ และแบ่งขายเป็นเม็ดๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดมาก เพราะการกินยาปฏิชีวนะนอกจากจะไม่กินพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นแล้ว ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการกินให้ครบโดส มิเช่นนั้นจะมีปัญหาการดื้อยาได้ ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะมีหลายกลุ่ม แต่ขณะนี้เองในโรงพยาบาลพบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะหลายตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลดต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องเอาจริงเอาจัง ส่วนเรื่องการทบทวนทะเบียนตำรับยาจะมีการประชุมในอีกประมาณ 1 - 2 วันนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น