xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการหัวใสขายน้ำจืด หมู่บ้านไร้แผ่นดินจันทบุรีที่ไม่มีน้ำจืดใช้(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
จันทบุรี - ชมวิถีชีวิตภูธรของชาวบ้านในหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ดำรงชีพด้วยการทำประมงแต่กลับไม่มีน้ำจืดใช้ เช่นเดียวกับการผุดโฮมสเตย์จำนวนมากของนักธุรกิจทั้งใน และนอกพื้นที่เพื่อรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวิถีชีวิตธรรมชาติ จนมีผู้ประกอบการหัวใสผุดธุรกิจนำน้ำจืดจาก จ.ตราด เข้ามาจำหน่ายสร้างรายได้งาม



วันนี้ (6 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงสำรวจหมู่บ้านไร้แผ่นดิน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.2 ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี หลังพบว่า ปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในการเดินทางไปเยือนเนื่องจากมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ ซึ่งเมื่อไปถึงก็พบว่า มีเรือขนาดใหญ่กำลังบรรทุกน้ำจืดเข้าจอดเทียบท่ายังหน้าบ้านของประชาชน และโฮมสเตย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของนักลงทุนทั้งในพื้นที่ และต่างถิ่น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่นิยมรูปแบบการพักผ่อนที่สามารถสัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด

โดยอาชีพหลักของชาวบ้านในหมู่บ้านไร้แผ่นดินแห่งนี้ คือ การทำประมง ซึ่งมีความจำเป็นในการใช้น้ำจืดจำนวนมากในการล้างเครื่องมือทำประมง รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโฮมสเตย์ ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก จนเป็นที่มาของอาชีพขายน้ำจืด ที่ผู้ขายต้องต่อเรือให้มีช่องใส่แท็งก์น้ำเพื่อนำน้ำจืดมาขายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

ส่วนราคาขายจะอยู่ที่แท็งก์ละ 300 บาท หรือหากชาวบ้าน และผู้ประกอบการซื้อน้ำ จำนวน 6 แท็งก์ที่บรรทุกได้เต็มที่ใน 1 เที่ยวเรือ ผู้ประกอบการก็จะคิดราคา 1,800 บาท ซึ่งในแต่ละวันผู้ประกอบการจะนำเรือวิ่งส่งน้ำเพียงวันละ 6 เที่ยวเท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และผู้ประกอบการโฮมสเตย์

นางอัจฉราภรณ์ สานะพันธุ์ อายุ 59 ปี ชาวบ้านในหมู่บ้านไร้แผ่นดิน บอกว่า ตนเอง และสามีประกอบอาชีพขายน้ำมานานกว่า 20 ปี โดยจะซื้อน้ำจาก จ.ตราด บรรทุกลงเรือมาขายให้แก่ชาวบ้าน และผู้ประกอบการโฮมสเตย์ทุกวัน แต่ละวันหนึ่งจะขายเพียง 6-7 เที่ยว เพราะต้องใช้เวลาในการเดินทางจากท่าเรือ จ.ตราด มาถึงบ้านโรงไม้ ต.บางชันใช้เวลา ครั้งละ 30 นาที

“ยิ่งในช่วงนี้เข้าสู่หน้าแล้งความต้องการน้ำจืดของชาวบ้านก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็อาจจำเป็นต้องปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะการหาแหล่งน้ำจืดที่นำน้ำมาขายจะต้องใช้ระยะทางไกลกว่าเดิม อย่างไรก็ดี อาชีพนี้แม้จะต้องใช้เวลาในการเดินทางที่ยาว แต่ก็ถือว่าสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี เพราะความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ยังมีอยู่สูง” นางอัจฉราภรณ์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น