ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แผนสร้างทางรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางจิริะ-ขอนแก่น ช้ากว่ากำหนด พบคืบหน้าแค่ 53% ล่าช้าจากแผนงานที่กำหนดไว้อยู่ 4.5% คาดเปิดให้บริการพร้อมกันประมาณกุมภาพันธ์ 2562
นายวิรุต เภาทอง ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง โครงการรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง หรือการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ โดย ร.ฟ.ท.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช (บมจ. ช.การช่าง และ บจก. ช.ทวีก่อสร้าง) ดำเนินงานก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ขณะที่การก่อสร้างจากแผนที่กำหนดไว้คือ 58% คืบหน้าแล้วร้อยละ 53.50% หรือล่าช้าอยู่ 4.5%
ขณะนี้ได้ปรับแผนการเปิดบริการใหม่จากก่อนหน้านี้ มีนโยบายจะเปิดบริการช่วงบ้านเกาะ-เมืองคง ระยะทาง 50 กิโลเมตร ก่อนในช่วงปลายปี 2560 นั้น คงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากต้องทดสอบ ระบบอาณัติสัญญาณเพื่อความปลอดภัย โดยจะเปิดบริการพร้อมกันตลอดสายภายในเดือน ก.พ. 2562
นายวิรุตกล่าวอีกว่า โครงการรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น เป็นรางกว้าง 1 เมตร โดยก่อสร้างทางเพิ่ม 1 ทาง ด้านขวา ขนานไปกับทางรถไฟเดิม มีสถานีในพื้นที่ก่อสร้าง 18 สถานี มี 16 สถานีเดิมที่ได้รับผลกระทบ ต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ โครงสร้างเป็นทางวิ่งระดับพื้นทั้งหมด ยกเว้นช่วงบริเวณสถานีขอนแก่น จะเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 5.4 กม. โดยจะรื้อสถานีเดิมและสร้างสถานีใหม่ขึ้นมารองรับ ถือว่าเป็นสถานีขนาดใหญ่พิเศษแห่งแรกในภูมิภาค ขณะเดียวกัน มีสะพานรถไฟจำนวน 84 สะพาน งานก่อสร้างสถานีรถไฟ ระดับพื้น 18 สถานี และป้ายหยุดรถไฟ 7 แห่ง และงานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบ้านกระโดน สถานีชุมทางบัวใหญ่ และสถานีท่าพระ
อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า หากโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะเปลี่ยนการขนส่งทางถนนไปสู่รางมากขึ้น โดยมีผู้โดยสารใช้บริการ 27,200-38,800 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 37,000-55,000 คนต่อวัน ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าที่ผ่านเส้นทางประมาณ 10,900-11,300 ตันต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 36,400 ตันต่อวัน ภายในปี 2577 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมทั้ง ระบบโลจิสติกส์ของประเทศ สามารถรองรับการเดินทาง และขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ