xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.เผยผู้มีรายได้น้อยหนองคายได้เงินสงเคราะห์ล่าช้า เจอหลักฐานโกงฟันไม่เลี้ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมคณะลุยตรวจหาหลักฐานทุจริตเงินผู้มีรายได้น้อย ที่จ.หนองคาย
หนองคาย- เลขาธิการ ป.ป.ท. ลุยตรวจหาหลักฐานทุจริตเงินผู้มีรายได้น้อย พบกลุ่มแม่บ้านที่หนองคาย 17 ราย ได้รับเงินล่าช้า หลังเบิกฎีกาจ่ายเงินไปตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 60 เผยหากพบใครเกี่ยวข้องทุจริต เอาผิดหนักทุกราย

วันนี้ (19ก.พ.61) พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมคณะได้เดินทางไปยังบ้านของนายมะนูญ โพธิ์ภูมี ผู้ใหญ่บ้านโคกสำราญ หมู่ 4 ต.ค่ายบกหวาน อ.เมืองหนองคาย เพื่อตรวจสอบพูดคุยและสอบปากคำชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทุจริตเงินผู้มีรายได้น้อยของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.หนองคาย โดยครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำชาวบ้าน ซึ่งรวมกลุ่มเป็นกลุ่มแม่บ้านทำขนมข้าวแต๋นน้ำแตงโมจำหน่าย

พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า เบื้องต้นได้ข้อมูลว่ากลุ่มแม่บ้านที่หนองคาย ซึ่งมีสมาชิก 17 ราย ได้รับเงินสงเคราะห์ทุกคนแต่ล่าช้า โดยตามระเบียบเมื่อมีการเบิกจ่ายเงินตามฎีกาจ่ายเงินแล้ว ประชาชนจะได้รับเงินคนละ 2,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มอาชีพก็จะได้ทุกคน อย่างกลุ่มนี้ จะได้เงิน 34,000 บาท แต่ปรากฏว่ามีการออกใบเสร็จรับเงินเมื่อวันที่ 16มิ.ย.60 ซึ่งเป็นเงินงบประมาณของปี 2560 ทางกลุ่มได้รับเงินเพียง 10,000 บาท โดยให้ทุกคนเซ็นรับเงินในใบสำคัญรับเงิน

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ชาวบ้านแจ้งว่ามีชายคนหนึ่งนำเงินมาให้จำนวน 24,000 บาท ซึ่งเป็นเงินครบตามจำนวนที่กลุ่มอาชีพนี้จะได้รับ แต่ความผิดปกติอยู่ตรงที่ กลุ่มอาชีพจะต้องได้รับเงินตามจำนวนทันที และใบเสร็จรับเงินจะต้องตรงกับวันจ่ายเงิน ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

กรณีนี้ทาง ป.ป.ท. จะดูว่ามีการเบิกเงินเมื่อไหร่ จ่ายเงินเมื่อไหร่ ซึ่งเมื่อ ป.ป.ท.ลงมาตรวจสอบ ก็พบว่านำเงินมาจ่ายให้ชาวบ้านจนครบจำนวน หากมีการเบิกเงินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 โดยเป็นงบประมาณส่งเสริมอาชีพของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาย โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจะเข้าไปส่งเสริมและจ่ายเงินให้ชาวบ้านได้มีเงินไปประกอบอาชีพ แล้วเหตุใดจึงไม่นำเงินมาจ่ายให้ชาวบ้าน ซึ่งเข้าข่ายต้องสงสัย ต้องตรวจสอบให้ลึกลงไปว่าเพราะเหตุใดถึงมีการจ่ายเงินล่าช้า

พันโทกรทิพย์ กล่าวต่อว่าเจ้าหน้าที่จะได้พยานหลักฐานจากชาวบ้าน พฤติการณ์ที่หนองคายจะแปลกกว่าจังหวัดอื่นซึ่งได้รับเงิน แต่จังหวัดอื่นไม่ได้รับเงินเลยหรือได้รับไม่ครบ สำหรับจังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณหลักล้านบาทขึ้นไป โดย ป.ป.ท. ได้ลงตรวจสอบจังหวัดที่ได้รับเงินสงเคราะห์หลักล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเริ่มตรวจสอบทุกจังหวัด บางจังหวัดอาจใช้เวลา เพราะเจ้าหน้าที่ต้องลงไปพบกับประชาชน โดยยังไม่ทราบว่าประชาชนจะสามารถให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใด การตรวจสอบต้องตรวจทั้งเอกสาร ฎีกาเบิกเงิน ว่าใครได้รับเงิน ชื่อ ที่อยู่ แล้วจึงมาสอบถามประชาชนว่าได้รับเงินตรงตามฎีกาดังกล่าวหรือไม่ ได้เซ็นชื่อรับเงินหรือไม่

ขณะนี้พบว่ามี จ.ขอนแก่น อยู่ระหว่างการขยายผลไปที่ จ.เชียงใหม่, จ.บึงกาฬ, จ.สุราษฎร์ธานี และจ.หนองคาย ถ้าทาง ป.ป.ท.ดำเนินการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีพฤติการณ์ทุจริต จะนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อให้มีมติเสนอให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง นั่นคือการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนให้ข้อมูลเป็นอย่างดี อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะประชาชนตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเป็นพิษภัย จึงได้เข้ามาให้ข้อมูล เบาะแส เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หากประชาชนพบเห็นการทุจริตสามารถแจ้งได้ที่ สำนักงาน ป.ป.ท.จังหวัดนั้นๆ หรือโทร.1206 หรือแจ้งศูนย์ดำรงธรรมประจำอำเภอ ประจำจังหวัดได้ทุกแห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น