พะเยา - ชาวบ้านเซี๊ยะ พร้อมผู้ปกครอง 22 เด็กนักเรียนจุนฮือซ้ำ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองชื่อเด็กพ้นบัญชีเด็กพิการอีกครั้ง หลังสอบโอเน็ตโดนให้นั่งสอบห้องเด็กพิเศษ หวั่นเป็นตราบาปติดตัวลูกหลาน ด้าน ผอ.สพป.พะเยาฯ ยันเด็กพ้นความพิการออกจากระบบ 100% พร้อมสั่งย้าย-สอบครูผู้ทำคัดกรองแล้ว
วันนี้ (12 ก.พ.) นายทินกร อินทะนาม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตประถมศึกษาพื้นที่ (สพป.) พะเยา เขต 2 พร้อมด้วยนายเสมอ วงศ์วุฒิ รอง ผอ.สพป.พะเยา เขต 2, ปลัดอำเภอจุน, กำนัน ต.จุน และผู้ใหญ่บ้าน บ้านเซี๊ยะ หมู่ 4 ต.จุน อ.จุน จ.พะเยา ได้ประชุมร่วมกับผู้ปกครองเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านจุน ชั้น ป.1-6 จำนวน 22 คน ที่มีชื่ออยู่ในบัญชี “เด็กพิการ” และชาวบ้านประมาณ 30 ราย ที่อาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน
เพื่อรับฟัง และแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน 22 คนที่ได้รับผลกระทบจากการคัดกรองเด็กพิเศษ ซึ่งผู้ปกครองไม่พอใจ เคยเข้าร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอจุน และสื่อมวลชนมาแล้ว
นายหมวก สะสาง ผู้ใหญ่บ้านบ้านเซี๊ยะ หมู่ 4 ต.จุน กล่าวว่า ผู้ปกครองประสงค์จะขอให้ทางโรงเรียนบ้านจุนแก้ไขให้เด็กนักเรียนจำนวน 22 คนที่ถูกนำเข้าระบบคัดกรองเด็กพิเศษ จะเนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้นำเด็กทั้งหมดออกจากระบบดังกล่าว เนื่องจากเด็กได้รับผลกระทบถูกเพื่อนล้อเลียน เกรงจะเป็นประวัติติดตัวไม่อาจลบออกได้
นายทินกร อินทะนาม ผอ.สพป.พะเยา เขต 2 กล่าวว่า เรื่องของเด็กนักเรียนจำนวน 22 คนนี้ ทางสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทษ. ได้ดำเนินการนำเด็กนักเรียนทั้ง 22 คนออกจากระบบคัดกรองทั้งหมดแล้ว และมีหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งถึงผู้ปกครองแล้ว
แต่หากผู้ปกครองยังไม่มั่นใจ ทางศูนย์ดำรงธรรม อ.จุน จะช่วยเหลือประสานงานขอนายอำเภอจุนลงนามรับรองเอกสารอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ผู้ปกครองพอใจ ประกอบกับขณะนี้ทางสำนักงานฯ ได้ดำเนินการสั่งให้ย้ายครูผู้ดำเนินการระบบคัดกรองพร้อมกับสั่งสอบแล้วด้วย
นายพิสุทธิ์ศักดิ์ ธรรมะวุฒิสุข ปลัดอำเภอ (งานศูนย์ดำรงธรรม) อ.จุน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารทั้งหมด พบว่าทาง สทษ.ได้ทำการจำหน่ายเด็กนักเรียน 22 คนออกจากระบบเรียบร้อยแล้ว
นายอนุสรณ์ อะสุระพงษ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของผู้ปกครองนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า ตนได้รับการประสานงานจากผู้ปกครองของนักเรียนเพื่อขอคำปรึกษาด้านข้อกฎหมาย การเรียบเรียงถ้อยคำ เอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องร้องในภายหลัง เบื้องต้นตนได้แนะนำให้นำเด็กนักเรียนไปตรวจสภาพร่าง พัฒนาการทางสมอง และถ้าหากไม่พบข้อบกพร่องก็ต้องนำออกจากระบบ หรือลบออกจากสารบบทั้งหมด เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจกันด้วยดี
นางวราภรณ์ ไชยโชติ อายุ 42 ปี ผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่ง กล่าวว่า การนำเด็กออกจากระบบคัดกรองตนมองว่ายังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าสอบ O-Net กลับถูกนำไปนั่งสอบในห้องของเด็กพิเศษ จึงห่วงว่าเด็กที่ถูกนำเข้าระบบเป็นเด็กพิการจะมีประวัติย้อนหลังหรือไม่ เพราะได้เข้าแข่งขันกีฬาผู้พิการเด็กพิเศษและได้รับรางวัลมา จะเป็นหลักฐานที่เกรงจะส่งผลกระทบต่อเด็กในภายหลัง ส่วนกรณีที่มีการบังคับให้เด็กเซ็นชื่อในเอกสารแทนผู้ปกครองเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการเข้าใจผิดกันอีก
ต่อมา นายถวัลย์ แสงสว่าง ผอ.โรงเรียนบ้านจุน และครูที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาร่วมพบกับผู้ปกครอง-ชาวบ้านเซี๊ยะ พร้อมชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าระบบคัดกรองทางโรงเรียนได้ดำเนินการตามระเบียบของรัฐบาล และขณะนี้ได้มีการนำเด็กทั้ง 22 คนออกจากระบบเรียบร้อยแล้วอย่างชัดเจน
ด้านนายเทวา ปัญญาบุญ นายอำเภอจุน ได้แจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ว่า มีความยินดีและพร้อมที่จะลงนามรับรองเอกสารที่ผู้ปกครองต้องการให้ลงนามรับรอง เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจต่อไป