แพร่ - เกษตรกรชาวไร่ยาสูบเมืองแพร่ครวญหนัก ถูกหลอกลงทุนสร้างโรงอบใหม่เลิกใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ผ่านไปไม่ถึง 5 ปี-ทุนยังไม่ได้คืนกลับโดนโรงงานยาสูบหั่นโควตาเหี้ยนจาก 3 พัน กก./ราย เหลือแค่ 900 กก. บอกอบครั้งเดียวก็เกินลิมิตแล้ว ที่เหลือจำใจส่งให้พ่อค้าคนกลางกดราคา
ขณะนี้ชาวไร่ยาสูบรายย่อยทั่วทั้งจังหวัดแพร่ ที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เข้ามาส่งเสริมการทำไร่ยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากถึง 12,410 ไร่โดยประมาณ ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.ร้องกวาง อ.สูงเม่น อ.เมือง และ อ.หนองม่วงไข่ มีเกษตรกรที่ยึดอาชีพนี้ถึง 1,602 ราย มีผลผลิตออกมาถึง 35,000 ตันต่อปี กำลังประสบความเดือดร้อนกันทั่วหน้า
นางบานเย็น ถุงเงิน ชาวไร่ยาสูบรายหนึ่งในบ้านต้นเดื่อ ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง บอกว่า เดิมชาวไร่ใช้เตาบ่มใบยาแบบเก่าที่เกษตรกรทำขึ้นเองได้ ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลักในการอบ กระทั่งปี 2554-2556 มีการจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้โรงอบแบบใหม่ ลดใช้ไม้ฟืน เพราะมองว่าเป็นการทำลายป่า ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เตาอบไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานออกแบบ โดยใช้โควตารับซื้อมาเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการอบใบยาใหม่ โดยเพิ่มโควตารับซื้อเป็นรายละ 3,000 กก./ฤดูการผลิต
เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง เห็นด้วยจึงหาเงินมาลงทุนสร้าง-ติดตั้งโรงอบแบบใหม่ แต่ไม่ถึง 5 ปียังไม่ทันคืนทุน โรงงานยาสูบกลับตัดโควตาลงแล้ว โดยปีนี้โควตาที่เคยได้ 3,000 กก. ถูกตัดเหลือ 900 กก.เท่านั้น
“ถ้าเป็นแบบนี้เกษตรกรนำใบยาเข้าอบเพียงครั้งเดียวก็เกินโควตาแล้ว ส่วนใบยาสูบที่เหลืออีกจำนวนมาก เกษตรกรต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง แน่นอนว่าเป็นโอกาสของพ่อค้าคนกลางในการกำหนดราคาถูกกดราคาอย่างหนัก”
นายสำราญ เข็มวิชัย เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบอีกรายที่มีโรงอบใบยาแบบใหม่ กล่าวว่า โรงงานยาสูบแพร่มีแผนการปลูกทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง วิธีการปลูก เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งเวลาการเก็บเกี่ยว-รับซื้ออยู่ในการควบคุม เรียกว่าเป็นสินค้าพรีเมียม กำหนดราคารับซื้อต้นฤดู 100 บาท/กก. และลดลงมาเป็นลำดับแต่ก็คุ้ม ซึ่งจะหมดเขตในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนที่เหลือที่เกษตรกรปลูกยาสูบต้องจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ ในช่วงนี้จะถูกกดราคาลงไปอีกเพราะเกษตรกรหมดทางเลือกจำเป็นต้องขาย
นายสำราญบอกว่า โรงงานยาสูบควรคงโควตารับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการสร้างโรงบ่มแบบประหยัดพลังงานไว้ที่ 3,000 กก. แต่ควรลดโควตาเกษตรกรที่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ราย แต่ได้รับโควตาสูงมาก มาเฉลี่ยให้เกษตรกรรายย่อย อย่างน้อยรายละ 3,000 กก.ต่อฤดูการผลิตชาวบ้านก็พอใจ แต่ถ้าไม่สนใจแก้ไข เกษตรกรชาวไร่ยาสูบรายย่อยก็ต้องรับกรรมไปที่เกิดมาเป็นเกษตรกรไทย