xs
xsm
sm
md
lg

ตามดูแหล่งผลิตหม่าล่าไทย พิสูจน์แนวคิดคนอยู่กับป่า ปลูกทีเดียวเก็บยาวกว่าครึ่งศตวรรษ(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ตามพิสูจน์แหล่งผลิต “หม่าล่าเมืองไทย” กลางป่าแม่เมาะ ชาวบ้านยืนยันปลูกครั้งเดียวเก็บกินยาวกว่าครึ่งศตวรรษ ไม่ต้องบำรุง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เก็บแต่ละครั้งสร้างรายได้หลักหมื่นขึ้น แถมปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมได้ พ่อค้าตามซื้อถึงที่

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ชุมชนชาวไทยภูเขาหลายเผ่าในลำปาง คือ บ้านกลาง หมู่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ซึ่งอยู่บนดอยสูง ได้กลายเป็นแหล่งผลิตหม่าล่าเมืองไทย หรือมะแขว่น สมุนไพรไทยรสจัดจ้าน ภายใต้แนวคิดคนอยู่กับป่าได้อย่างแท้จริง

นายสมชาติ หละแหลม ผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ บ้านกลาง และนายแก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้นำชมพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านที่ไม่จำเป็นต้องมีการบุกรุกแผ้วถางป่า แต่กลับเป็นการสร้างป่า สร้างรายได้ และอยู่คู่ชุมมานับร้อยกว่าปี ปลูกง่าย ไม่ต้องบำรุง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย แค่ดูแลไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นเท่านั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกปี อายุยืนกว่า 60 ปี พืชเศรษฐกิจที่ว่านี้ คือ “มะแข่วน” หรือหม่าล่าไทย

ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน บอกว่า มะแขว่น ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ต้นจะสูงใหญ่ขึ้นทุกปี แต่ละปีผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตลอด ปลูกหนึ่งครั้งก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอด หนึ่งต้นสามารถเก็บผลผลิตได้ไม่น้อยกว่า 30 กิโลกรัม (ผลดิบ) เมื่อนำมาตากแห้งก็จะเหลือ 20 กิโลกรัม จำหน่ายแบบสดกิโลกรัมละ 30 บาท ตากแห้งแบบรวมทั้งก้านกิโลกรัมละ 100 บาท แบบแยกก้านกิโลกรัมละ 180 บาท แต่ละครัวเรือนจะสามารถเก็บมะแขว่นขายครั้งละหลักหมื่นบาททีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

“การปลูกมะแขว่นจะไม่ทำลายป่า แต่จะมีการปลูกพืชแบบผสมผสาน คือ ใต้ต้นมะแขว่น ก็จะมีการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกา และพืชสมุนไพร อยากให้รัฐบาลมาดูวิถีชีวิตของ 2 หมู่บ้านนี้ว่า ชาวบ้านอยู่กับป่าอย่างไรที่จะทำให้มีรายได้ และไม่ทำลายป่า ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่กับป่าได้จริงๆ”

เขาบอกว่า ชาวบ้านที่นี่จะปลูกมะแขว่นมากที่สุด เพราะมะแขว่นเจริญเติบโตดีในอากาศชื้นเย็น ส่วนผลผลิตเมื่อเก็บแล้วก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าทั้งใน และต่างจังหวัดมารับซื้อถึงที่ หรือบางแห่งก็จะสั่งจองเป็นเจ้าประจำ ปัจจุบัน มีชาวบ้านที่มีพื้นที่ก็จะหันมาปลูกมะแข่วนกันกว่า 80% ผสมกับการปลูกพืชอื่นที่ผสมผสานกันไปด้วย ทำให้มีรายได้ดี

สำหรับ มะแขว่น ถือเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีกลิ่นเฉพาะตัว รสเผ็ด ชาลิ้น คล้ายรสชาติของหม่าล่า คนเมืองนิยมนำมาปรุงเป็นส่วนผสมของเครื่องเทศ เพื่อนำมาปรุงอาหารประเภทลาบเนื้อ หรือลาบขม ส้า ลาบหมู แกงผักกาดเขียว แกงฝัก ยำไก่เมือง ยำกบ และอื่นๆ อีกหลากหลายเมนู










กำลังโหลดความคิดเห็น