เชียงราย - รัฐ-เอกชนจับมือเตรียมจัดงาน “เชียงราย กาแฟ และชา” ปลายเดือนนี้ส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง หลังอียูขึ้นทะเบียน 2 ผลิตภัณฑ์กาแฟดังไปแล้วเมื่อปี 59 ขณะที่ “กาแฟดอยช้าง” เดินหน้าปรับรูปแบบแพกเกจ ชู 3 ชาติพันธุ์ผู้ผลิต-ปั้น “กาแฟเกอิชา” กิโลฯ ละ 8,000 บาท เผยปีแรกจองเกลี้ยง
นายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย, นายสุเทพ ทิพย์รัตน์ เกษตร จ.เชียงราย, นายนาวิน อินทรจักร ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จ.เชียงราย และนายธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกสมาคมกาแฟและชาไทย ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดงานมหกรรม “เชียงราย กาแฟ และชา” หรือ Chiangrai Coffee & Taz Festival 2017 ณ โซนวิดีโอวอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค.นี้
นายบุญเวทย์กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการส่งเสริมการปลูกกาแฟเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการทำไร่เลื่อนลอย ก่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวเชียงรายมานาน ดังนั้นทางจังหวัดจึงได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระราชกรุณาธิคุณพระองค์ท่าน และส่งเสริมพืชเศรษฐกิจของเชียงรายอีกทางหนึ่ง
ด้านนายสุเทพกล่าวว่า พื้นที่ จ.เชียงรายมีการปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกาที่มีรสชาติโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนทางสหภาพยุโรป หรืออียู ได้ขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง จ.เชียงราย ในฐานะกาแฟคุณภาพระดับโลก เมื่อปี 2559 ดังนั้น จังหวัดจึงสืบสานการจัดงานส่งเสริมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว
โดยภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ “ตามรอยที่พ่อสร้าง” นำเสนอภาพประวัติการทรงงานด้านกาแฟ นิทรรศการ “กาแฟของพ่อ จากขุนวางสู่วาวี” และนิทรรศการแสดงศักยภาพการผลิตกาแฟของ จ.เชียงราย จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกบนดอยกว่า 20 ขุนเขา
ขณะที่นายนาวินกล่าวว่า ปัจจุบันเชียงรายมีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมกันกว่า 38,000 ไร่ ให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมากว่า 4,355 ตัน โดยในปี 2558-2559 ผลผลิตกาแฟทั่วประเทศมี 9,000 ตัน ปรากฏว่ากว่า 50% มาจากแหล่งปลูกใน จ.เชียงราย และในอนาคตตลาดยังต้องการกาแฟปีละกว่า 20,000 ตัน จึงทำให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตดีมาก สังเกตได้จากพื้นที่ทั่วทุกแห่งมีแต่ร้านกาแฟและมีแนวโน้มขยายมากขึ้นอีกด้วย
แต่การที่กาแฟอะราบิกาจะให้รสชาดดี พื้นที่ต้องสูงกว่าระดับทะเลปานกลางตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป อากาศชื้นเหมาะสมและปริมาณฝน 2,000 มิลลิลิตร ทำให้ได้รสชาติดี และตลาดต้องการอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายปณชัย พิสัยเลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัทกาแฟดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด กล่าวว่า เฉพาะบนดอยช้างมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 30,000 ไร่ และทางบริษัทร่วมกับชาวบ้านบนดอยช้างผลิตกาแฟออกมาได้ประมาณ 2,000 ตันต่อปี โดยมีชาวบ้านที่เข้าร่วมประมาณ 1,200 ครัวเรือนผลิต มีรายได้ขั้นต่ำ 35,000 บาทต่อไร่ และถ้าดูแลดีจะสูงกว่านี้ ปัจจุบันตลาดเป็นส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศอย่างละ 50%
และขณะนี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากรูปแบบเดิม ผลิตเป็นซอง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ อาข่า ลีซู และจีน ซึ่งอยู่บนดอยช้างและร่วมกันปลูก-ผลิตกาแฟในโรงงานด้วยกัน ขนาดซองละ 250 กรัม แบ่งเกรดต่างๆ คือ แบบพีเบอร์รี คลาสสิก ซองละ 400 บาท, แบบเอสเปรสโซ สุพรีม, ออร์แกนิก ซิกเนเจอร์ ซองละ 350 บาท, แบบพรีเมียม คลาสสิก ซองละ 270 บาท
ล่าสุดยังได้นำกาแฟเกอิชา สายพันธุ์จากประเทศเอธิโอเปียที่มีความหอมมาปลูก และผลิตออกมาเป็นปีแรก ซึ่งให้รสชาติอร่อย-มีกลิ่นหอม จำหน่ายกิโลกรัมละ 8,000 บาท และแยกเป็นซอง ซองละ 100 กรัม ต่อ 800 บาท ปรากฏว่าถูกสั่งจองจนไม่พอต่อความต้องการแล้ว