xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่รอยต่อ 3 แม่น้ำเชื่อม 3 จังหวัดตะวันออกวิกฤต หลังปลาลอยตายเกลื่อนลำน้ำ(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา- พื้นที่รอยต่อ 3 แม่น้ำเชื่อม 3 จังหวัดตะวันออกวิกฤตหนัก ชาวบ้านพบปลาลอยตายเกลื่อนลำน้ำ เชื่อเป็นน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ทางตอนบน แต่ก็ยังคงพากันแห่จับไปบริโภค และขายต่อ ด้านประมงพื้นที่อ้างไม่เคยตรวจพบสารโลหะหนักปนเปื้อนมาในน้ำ ระบุแค่คุณภาพน้ำมีค่าออกซิเจนต่ำเท่านั้น

วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายชูเกียรติ อังคสิงห์ ชาวบ้าน ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ว่า สภาพน้ำในลำน้ำบางปะกงเริ่มเน่าเสีย มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงปนดำ และมีปลาลอยตายเกลื่อนตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงของปลายดูฝน ระหว่างช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันมานาน 5-6 ปีแล้ว หลังมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งต้นน้ำทางตอนบนของพื้นที่ และเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี ที่อยู่ทางตอนบน

ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำบางปะกงตอนกลาง เป็นจุดที่มีแม่น้ำ 3 สาย (แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง) ไหลมารวมบรรจบกันที่ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ปลาชนิดต่างๆ ลอยตัวอยู่เต็มผิวน้ำใกล้ชายตลิ่งเพื่อหายใจ เพราะคุณภาพน้ำน่าจนมีค่าออกซิเจนต่ำ และยังมีชาวบ้านพากันออกมาจับปลา และกุ้งแม่น้ำที่ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อนำไปขาย และบริโภค

เช่นเดียวกับ นายจำเนียร บุญชื่น ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ที่บอกว่า น้ำเน่าเสียในลำน้ำบางปะกง เป็นน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกมาจากลำคลองสารภี ซึ่งอยู่ทางตอนบนของลำน้ำ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ทางการเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้กับลำคลอง แต่ก็ยังไม่ทราบว่าแหล่งที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียมาจากจุดใด

“ปรากฏการณ์น้ำเน่าปลาตายแบบนี้มักเกิดขึ้นตรงกันทุกๆ ปี คือ ช่วงของวันที่ 10 พ.ย. โดยที่ผ่านมา หลังจากมีหน่วยงานทางราชการเข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำ ก็ได้รับคำตอบว่า เป็นน้ำเสียที่มาจากนาข้าว เนื่องจากชาวนาเปิดระบายน้ำออกจากแปลงนาข้าวเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และชาวนาได้ใช้สารเคมีเกินขนาด แต่เราก็ไม่ทราบว่า ทางราชการวัดด้วยอะไร จึงระบุผลออกมาแบบนั้น เพราะไม่มีการแจ้ง หรือชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่าเป็นสารเคมีชนิดใดที่ปนเปื้อนมากับน้ำ” นายจำเนียร กล่าว

ด้าน นายบุญส่ง ศิริมา หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ตรวจวัดค่าออกซิเจนในน้ำ บริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่าง 3 แม่น้ำ กล่าวว่า น้ำในบริเวณดังกล่าวมีค่าดีโอ (ออกซิเจนละลายในน้ำต่อลิตร) อยู่ที่ 0.2-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีสภาพค่อนข้างแย่ โดยในบางจุดยังสามารถวัดค่าได้สูงถึง 2.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่าปกติของออกซิเจนละลายในน้ำที่สัตว์น้ำจะสามารถอยู่ได้ ค่าจะอยู่ที่ 3.0 มิลลิกรัมต่อลิตร และหากต่ำกว่า 1.5 ลงมา ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำลงนั้น เชื่อว่า เกิดจากการเปิดประตูระบายน้ำออกมาจากคลองสารภี ในพื้นที่ทางตอนบน ซึ่งหากไม่เปิดระบายน้ำลงมาจะทำให้พื้นที่นาข้าวจำนวนกว่า 2 หมื่นไร่นั้นไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ หลังจากเปิดประตูระบายน้ำออกมาแล้วจึงทำให้ดินตะกอนที่ถูกดักเอาไว้ที่ด้านหลังประตูระบายน้ำ และเกิดการเน่าเสียได้ถูกระบายออกมาพร้อมกันกับน้ำในคลองด้วย

“ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดภาวะน้ำขาดออกซิเจน น่าจะเกิดจากดินตะกอนในน้ำที่ถูกกักไว้จนเน่าเสีย และถูกปล่อยระบายออกมาลงสู่ลำน้ำบางปะกง ส่วนสารเคมีจากยาฆ่าแมลงปนเปื้อนในน้ำนั้น มีการตรวจพบบ้าง แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก ที่ผ่านมา ก็ได้มีการทำใบปลิว และแผ่นพับแจกจ่ายชี้แจงต่อชาวบ้าน และเกษตรกร ตลอดจนชุมชนริมลำน้ำถึงสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำขาดออกซิเจนไปแล้ว แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ไม่เข้าใจ และมองว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากโรงงานอุตสาหกรรมทางตอนบนที่ปล่อยน้ำเสียออกมา”

สำหรับแนวทางแก้ไขแนวทางแรก คือ 1.ชลประทานได้มีการปรับบานประตูออกเป็น 2 บาน 2.การค่อยๆ ปล่อยระบายน้ำออกมาไม่ให้ระบายน้ำออกมาจากลำคลองสารภีเร็ว หรือแรงจนเกินไป เพราะจะทำให้ดินตะกอนที่ทับถมหมักไว้นานเน่าเสียถูกปล่อยระบายออกมาพร้อมกัน และ 3.คือการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์มาช่วยปรับสภาพน้ำ และแนวทางที่สี่คือให้ทางชุมชนที่อยู่ริมน้ำนั้นช่วยกันดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น