บุรีรัมย์ - แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่บุรีรัมย์บุกยื่นหนังสือจังหวัดถึงรัฐบาล เรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 10 ปี พร้อมขู่หากการยื่นหนังสือครั้งนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขก็จะรวมพลกับชาวสวนยางภาคใต้เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล
วันนี้ (7 พ.ย.) แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ถึงรัฐบาลหรือผู้บริหารกระทรวงที่รับผิดชอบ ให้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยขณะนี้ราคายางก้อนถ้วยรับซื้ออยู่เพียงกิโลกรัมละ13 บาท ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 30-35 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรไม่สามารถอยู่ได้
จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางพยุงราคายางก้อนถ้วยไม่ให้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 30 บาท และยางแผ่นดิบไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งประเทศให้สามารถอยู่รอดได้ แต่หากการยื่นหนังสือผ่านจังหวัดถึงรัฐบาลในครั้งนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์จะรวมพลกับชาวสวนยางทางภาคใต้เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไป
นายสวาท จำปาสาสว่างวงศ์ และ นายเจษฎา ตะกุดเพชร แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การเข้ายื่นหนังสือผ่านจังหวัดถึงรัฐบาลในครั้งนี้เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลหรือกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบได้เร่งหาแนวทางพยุงราคายางพาราที่กำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่ในขณะนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้สามารถอยู่รอดได้ แต่หากการยื่นหนังสือในครั้งนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกยางที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะเดินทางไปสมทบกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราหลายจังหวัดทางภาคใต้เพื่อเคลื่อนไหวกดดันเรียกร้องรัฐบาลต่อไป
นอกจากนั้น แกนนำเกษตรกรยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง ข้าว และพืชผลการเกษตรอื่นที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ให้เกษตรกรขายได้ในราคาที่คุ้มทุนด้วย เพราะขณะนี้เกษตรกรจะต้องแบกรับภาระหนี้สินเพราะขายผลผลิตไม่คุ้มทุน
ด้าน นายอนุรัฐ ไทยตรง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้กล่าวภายหลังเป็นตัวแทนมารับหนังสือจากแกนนำเกษตรกรว่า หลังรับหนังสือจะได้ส่งเรื่องเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐบาล และกระทรวงที่รับผิดชอบตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม อยากให้เกษตรกรใช้เหตุผลและรอรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทางรัฐบาลก่อน เพราะเชื่อว่าราคาผลผลิตที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้อาจเป็นกลไกตลาด ซึ่งหลายฝ่ายกำลังหามาตรการช่วยเหลือ จึงไม่อยากให้เกษตรกรเคลื่อนไหว ควรจะให้เวลารัฐบาลได้หาช่องทางอีกสักระยะ