ระยอง - ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง ทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ
นางพยุง มีสบาย ชาวบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เผยว่า วันนี้ (18 ต.ค) ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษา คดีชาวบ้านมาบตาพุด ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขอให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สืบเนื่องจากการที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ต้องเผชิญต่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมหนักในนิคมอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน
หลายคนเจ็บป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ หลายคนเป็นโรคมะเร็ง และอีกหลายชีวิตต้องสังเวยให้แก่โรคร้ายที่มาจากมลพิษอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมตก อยู่ในสภาวะที่เลวร้าย มีมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรง มลพิษทางน้ำ และอันตรายจากกากของเสียอันตราย และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐไม่ได้ทำให้ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดดีขึ้น ประชาชนยังคงต้องรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา และมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกโดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่เป็นอยู่
จากสภาพปัญหาทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวที่มีแนวโน้มรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามมาตรา 59 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ. ศ.2535 กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่จะประกาศให้เขตพื้นที่มาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินมาตรการควบคุม ลดและขจัดมลพิษ แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมกลับมิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ประชาชนชาวมาบตาพุด จึงต้องลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตัวเอง เพื่อให้มีการแก้ปัญหาสุขภาพและมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ตัวแทนประชาชนชาวมาบตาพุดจาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม รวม 27 คน โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW) จึงตัดสินใจยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองระยอง กรณีละเลยต่อหน้าที่ ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษ และขอให้พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ศาลปกครองระยอง มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปรากฏตามพยานหลักฐานว่า ปัญหามลพิษทางอากาศพบสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ใน 20 ชนิด พบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ จำนวน 19 ชนิด การประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศในพื้นที่มาบตาพุด
สรุปว่า หากแหล่งกำเนิดทุกแหล่งในพื้นที่มาบตาพุด ระบายมวลสารทางอากาศออกในอัตราสูงสุดตามค่าที่ได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมวลสารในบางค่าสูงกว่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศในบรรยากาศ สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ เป็น 3 เท่า และ 5 เท่า คุณภาพน้ำคลองสาธารณะ และน้ำทะเลชายฝั่งพบการปนเปื้อนสารโลหะหนักสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และมีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมลง
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารทางวิชาการอีกหลายรายการซึ่งล้วนแต่ระบุว่า ปัญหามลพิษในท้องที่มาบตาพุด กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ศาลจึงรับฟังว่า เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่ข้างเคียงเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม และขจัดมลพิษได้
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และพื้นที่ข้างเคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ศาลจึงมีคำพิพากษา ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ภายหลังศาลปกครองระยอง มีคำพิพากษา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ปฏิเสธว่ามิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในขณะนั้น ก็ได้ลงนามประกาศคณะ กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552) และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลตำบลมาบตาพุด และพื้นที่ข้างเคียงร วมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ
โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย เป็นอุตสาหกรรมหนักเช่นกัน และปรากฏข้อเท็จจริงว่าคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งสถานีหาดพยูนในปี พ.ศ.2544 แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดมีค่าเกินค่ามาตรฐาน แล้วพบว่าในปี 2544 และปี 2545 เหล็กมีค่าเกินค่ามาตรฐาน
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาการประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษของผู้ถูกฟ้องคดีที่ประกาศไปแล้ว 17 พื้นที่ใน 12 จังหวัด ปรากฏว่า เป็นการประกาศเขตควบคุมมลพิษทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอหรือทั้งตำบล มิใช่ประกาศเพียงบางส่วน เพื่อท้องที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด มีพื้นที่บางส่วนของตำบลเนินพระ ตำบลทับมา และตำบลมาบข่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ดังนั้น พื้นที่ในส่วนที่เหลือของตำบลก็สมควรประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย จึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีต้องประกาศให้ท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล และท้องที่ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา