กาฬสินธุ์ - กลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก สังกัด สพม.24 จำนวน 37 แห่ง ร่วมจัดทำรูปแบบและกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลการทดสอบ O-Net หลังพบปัญหาคุณภาพการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ส่งผลกระทบต่อสถานศึกษา แต่อาจจะมีผลกระทบต่อครอบครัวซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจ
ที่ห้องประชุมโปงลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24 (สพม.24) กาฬสินธุ์ ดร.อุดมชัย ชัยจุฑาภัค ผอ.สพม.24 นายปริญญา จุฑาสงฆ์ รองผู้อำนวยการ สพม. 24 เข้าติดตามการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในสังกัด หลังคุณภาพการศึกษาอยู่ระดับต่ำกว่ามาตรฐานจากผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ หรือ O-Net
ซึ่ง สพม. 24 อยู่ในอันดับที่ 40-41 จาก 42 เขตการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)
นายเรืองศักดิ์ โพธิ์หล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนดอนไทรงามพิทยาคม ในฐานะประธานชมรมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก สังกัด สพม.24 กาฬสินธุ์ ระบุว่า ภายหลังประชุมในส่วนผู้บริหารทราบถึงปัญหา และอุปสรรคที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาของกลุ่ม ร.ร.มัธยมศึกษาในสังกัด สพม.24 จาก 55 แห่ง มีสถานศึกษาที่เป็น ร.ร.มัธยมขาดเล็กกว่า 37 แห่ง กระจายอยู่ใน 18 อำเภอของจ.กาฬสินธุ์ อีกทั้งยังเป็นเขตชนบทห่างไกล
ในส่วนของการปรับตัวนั้น ทางชมรมฯ ได้จัดโครงการการจัดทำเครื่องมือและรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ หรือ O-NET เป็นการเตรียมตัวแต่ต้นปี เพื่อให้เกิดความพร้อมของบุคลากรทางการศึกษา ก่อนจะขยายผลสู่นักเรียนในสังกัด โดยวางเป้าหมายที่จะต้องขึ้นไปอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะเชื่อในศักยภาพของบุคลากร และนักเรียน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่มีผลกระทบ หรือสร้างความเสียหายให้แก่สถานศึกษาในสังกัด สพม. 24 โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก
แต่ครอบครัวของนักเรียนอาจจะได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่พื้นที่น้ำท่วมจะเป็นนาข้าว และพื้นที่การเกษตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่จะดำเนินการช่วยกันและกันให้ดีที่สุด
นายปริญญา จุฑาสงฆ์ รอง ผอ.สพม.24 กล่าวว่า ปัจจัยข้อจำกัดอยู่หลายเรื่องในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา ผลจากการวิเคราะห์และตกผลึกของกลุ่มผู้บริหารจนเกิดเป็นการรวมกลุ่มกันของโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพม.24 ที่มีทั้งหมด 55 แห่ง แต่ 37 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะแรกคือ การรวมกลุ่มของครูผู้สอน 5 สาระวิชามาจัดทำเครื่องมือ นั่นก็คือ แนวข้อสอบที่จะเป็นแบบฝึกหัดสำหรับนักเรียน ต่อจากนี้จะขยับขึ้นเป็นหลักสูตรเฉพาะ
โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ทางกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กได้ร่วมกันเข้าแก้ปัญหาเพื่อให้ตรงจุด เพราะปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำของ สพม.24 ที่สะสมมานาน
ส่วนปัจจัยที่เกิดปัญหามาจากการขาดแคลนบุคลากรครู โดยเฉพาะที่ตรงกับสาขาวิชา แต่ด้วยความตื่นตัวของผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรครูในกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก และต้องการปรับเปลี่ยนให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้นเลยเกิดเป็นกระบวนการตรงนี้ขึ้นมา
ซึ่งทาง สพม.ได้ตั้งความหวังในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้อยู่ในระดับต้นๆ ของ สพฐ. ที่จะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2560