xs
xsm
sm
md
lg

เผยยานรกระบาดหนักทั้งอาเซียน เล็งเพิ่มสายด่วน Hotline แก้ปัญหาร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ป.ป.ส.เจ้าภาพจัดเวิร์กชอปเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน หลังยานรกระบาดเพิ่มขึ้นทั้งภูมิภาค เผยประเทศสมาชิกเห็นพ้องเพิ่มการเฝ้าระวังการซื้อขายยาเสพติดผ่าน Social Network และเพิ่มสายด่วน Hotline ระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกันได้ทันสถานการณ์

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่โรงแรมพูลแมนราชาออคิด ขอนแก่น นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (รองเลขาธิการ ป.ป.ส.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-1 ส.ค. 60

มีผู้เข้าร่วมประชุมร่วม 100 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน UNODC เครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง

โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมกันจัดทำรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียน ประจำปี 2559 (ASEAN Drug Monitoring Report 2016) ฉบับที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิกสำหรับการพัฒนาฐานข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอาเซียนบน Website ASEAN-NARCO

รวมถึงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และเครือข่ายอาเซียนเฝ้าระวังยาเสพติด

นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยโดยสำนักงาน ป.ป.ส.จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดอาเซียน ในปี 2558 ภายใต้กรอบการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน หรือสำนักงาน ป.ป.ส.อาเซียน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ ตลอดจนการดำเนินงานของประเทศต่างๆ และแจ้งเตือนสถานการณ์ยาเสพติดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน

โดยกำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการของเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียนปีละ 2 ครั้งเพื่อจัดทำรายงาน ASEAN Drug Monitoring Report ร่วมกันเป็นประจำทุกปี สำนักงาน ป.ป.ส.ประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพได้จัดประชุมเพื่อร่วมกันจัดทำรายงานเฝ้าระวังยาเสพติดมาแล้ว 3 ครั้ง ได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศเป็นอย่างดี


ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศในภูมิภาคได้มีการจัดทำรายงานสถานการณ์ยาเสพติดประจำปี 2558 ร่วมกัน ทั้งนี้ สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2559 ได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

โดยพบว่าในพื้นที่หลายๆ ประเทศมีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนมากกว่าครึ่งหนึ่งของภูมิภาค โดยมีข้อเสนอจากประเทศสมาชิกว่าควรเพิ่มการเฝ้าระวังการซื้อขายยาเสพติดผ่าน Social Network รวมถึงการใช้ยาในทางที่ผิดมากยิ่งขึ้น และควรเพิ่มสายด่วน Hotline ระหว่างประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อให้สามารถสื่อสารถึงกันได้ทันท่วงที

แผนการดำเนินงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดอาเซียน คือ การสร้างฐานข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดของอาเซียน เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดที่รวดเร็ว ทันสมัย ทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นๆ

โดยสำนักงาน ป.ป.ส.คาดว่าจะสามารถพัฒนาฐานข้อมูลเฝ้าระวังยาเสพติดของอาเซียน จากแบบสอบถามที่ประเทศสมาชิกได้ออกแบบร่วมกันเพื่อเก็บข้อมูลยาเสพติดในภูมิภาค เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำเข้าข้อมูลได้โดยตรงภายในเดือนกันยายน 2560 ประกอบกับในปี 2560 นี้เป็นวาระที่ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการสารเสพติดครั้งที่ 10 ของประเทศไทย เพื่อเตรียมการเบื้องต้น

สำหรับการพัฒนาฐานข้อมูลยาเสพติดอาเซียนบนระบบออนไลน์ของประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอีกด้วย

“สิ่งสำคัญในการจัดประชุมครั้งนี้ คือ ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อยาเสพติดหลักที่แพร่ระบาดในภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายพิภพกล่าว และว่า

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนตัวยาใหม่ที่ค้นพบว่าเริ่มมีการแพร่ระบาดในภูมิภาคเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและควบคุมได้ทันท่วงที

โดยแจ้งเตือนหากพบสัญญาณของปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกตามวาระซึ่งเป็นที่ตกลงกันของประเทศสมาชิก และร่วมกันตรวจสอบรายงานเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด ปี 2559 (ASEAN Drug Monitoring Report 2016) ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนให้มีความเรียบร้อยสมบูรณ์ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น