กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ประสานนายทุนเข้าช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง หลังประสบปัญหาปลาตายเกลื่อเน่าเหม็น สูญเสียกว่า 20 ล้าน เบื้องต้น เล็งเปิดช่องทางตลาดใหม่ตามห้างสรรพสินค้า ขณะที่เกษตรกรผู้ประสบภัย ไม่ได้รับการเยียวยา เนื่องจากไม่ได้ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติ
จากกรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำปาว กว่า 500 ราย จำนวนกว่า 14,000 กระชัง ได้รับความเดือดร้อน หลังพ่อค้าคนกลางรับซื้อปลาจำนวนจำกัด ทำให้เกษตรกรต้องเลี้ยงปลาไว้นานกว่าเดิม ประกอบกับน้ำมีสารเคมี ส่งผลให้ประสบปัญหาปลาน็อกตาย เฉลี่ยรายละ 5-10 ตัน และยังคงทยอยตายลงทุกวัน ขาดทุนยับเยิน ต้องนำไปฝังดินเป็นปุ๋ย เบื้องต้น สูญกว่า 20 ล้าน วอนส่วนราชการช่วยเหลือ และสำรวจความเสียหาย
ล่าสุด วันนี้ (8 ก.ค.) นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้เชิญ นายอำพล จินดาวงค์ ประมง จ.กาฬสินธุ์ นายเมธี อำไพพิศ ตัวแทนผู้ประกอบการเลี้ยงปลากระชัง พร้อมด้วยตัวแทนห้างสรรพสินค้าเอกชนใน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมปรึกษาเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ที่กำลังประสบวิกฤตปลาน็อกตาย
นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับรายงานว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเขื่อนลำปาว ประสบความเดือดร้อนจากปัญหาปลาน็อกตาย จึงได้เชิญประมงจังหวัด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรึกษาหารือโดยเร่งด่วน ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้น ได้ให้ประมงจังหวัดประสานด้านการตลาด โดยเปิดตลาดรับซื้อปลาให้กว้าง และเพิ่มปริมาณมากกว่าเดิม เพื่อระบายปลาออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤต ทุกฝ่ายต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือ ขณะที่การช่วยเหลือระยะยาวจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคปลาให้มากขึ้น รวมทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาด้วย เพราะปลากระชังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.กาฬสินธุ์ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้
ด้าน นายอำพล จินดาวงค์ ประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สาเหตุของปลาน็อกตายนั้นมีหลายสาเหตุ ทั้งจากภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฝนตก อากาศปิด ออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ จำนวนปลากระชังหนาแน่นเกินไป สภาพน้ำที่อาจมีสารเคมีเจือปน ซึ่งจะได้ทำการวิเคราะห์ต่อไป ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ในช่วงประสบปัญหาปลาน็อกตายในขณะนี้ ได้ทำข้อตกลงกับห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง และสาขาต่างๆ
เช่น บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เพื่อเปิดตลาดจำหน่ายปลานิลสดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะเปิดเป็นทางการอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2560 ในเทศกาลกินกุ้งกินปลากาฬสินธุ์ ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขากาฬสินธุ์ อีกด้วย
ในส่วนของความสูญเสียจากปัญหาปลาน็อกตายนั้น เป็นไปตามข้อตกลงของนายทุนที่เข้ามาส่งเสริมเลี้ยงปลา และผู้ประกอบการ ประมงจังหวัดจะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ และความรู้ด้านการบริหารจัดการ ขณะที่การเยียวยา หรือจะได้รับการชดเชยหรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ภัยธรรมชาติรุนแรง เกิดความเสียหาย และผลกระทบขยายวงกว้าง
โดยกรณีปลาน็อกตายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะ ทางจังหวัดไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม ก็จะหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป