กาฬสินธุ์ - ดีเดย์ตรวจจับปรับจริงแล้ว ขนส่งเมืองน้ำดำคุมเข้มรถรับส่งนักเรียน เน้นย้ำความปลอดภัยและต้องถูกต้องตามกฎหมาย ลั่นตรวจพบผิดระเบียบกฎหมายจับปรับจริง ด้านผู้ประกอบการนำรถเข้าตรวจสอบขอใบอนุญาตคึกคัก
จากการออกตรวจสอบรถรับส่งนักเรียนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากใน 18 อำเภอเริ่มนำรถเข้าตรวจสภาพและขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 21/60 และมาตรา 14/60 การเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถ
ขณะที่ขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์เริ่มมาตรการกวดขันอย่างเข้มข้นทั้งรถตู้ และรถปิกอัพสองแถว เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง
นายชีพ น้อมเศียร ขนส่ง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารถรับส่งนักเรียนได้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สาเหตุมาจากการขับขี่รถของพนักงานขับรถที่ขับด้วยความเร็ว ประมาท น่าหวาดเสียว และสภาพตัวรถที่มีการดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต สภาพของรถไม่มั่นคงแข็งแรง อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบถ้วนถูกต้อง และการบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เป็นจุดเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ด้วยเหตุนี้ทางขนส่ง จ.กาฬสินธุ์จึงดำเนินมาตรการตรวจสอบและคุมเข้มรถรับจ้างรับส่งนักเรียนทุกประเภท ซึ่งหากพบว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะดำเนินการจับปรับขั้นสูงสุดทันที ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ขณะที่รถจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ในส่วนของรถบรรทุกและนำมาดัดแปลงเป็นรถรับจ้างรับส่งนักเรียนจะมีความผิดตามมาตรา 78/149 ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทและฐานความผิดใช้รถผิดประเภท มาตรา 27 วรรค 3/128 โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นายชีพระบุอีกว่า ในส่วนนของรถรับจ้างรถสองแถวจะต้องมีบันไดขึ้นลงท้ายรถ มีประตูปิดเปิดและที่กั้นเด็กตกจากรถ มีการจัดวางที่นั่งตามความกว้างของรถ ที่นั่งต้องยึดติดกับพื้นรถ ไม่ติดฟิล์มกรองแสง มีถังดับเพลิง มีป้ายสีส้มขนาด 60x25 ซม. มีข้อความรถโรงเรียน เป็นตัวอักษรสีดำ สูงไม่น้อยกว่า 15 ซม. นอกจากนี้แล้วพนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีหลักฐานการขึ้นทะเบียนรถยนต์
โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการรถรับจ้างรับส่งนักเรียนนำรถมาตรวจสภาพและขอใบอนุญาตจำนวนมาก โดยทางขนส่ง จ.กาฬสินธุ์จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงทั้ง 18 อำเภอ เพื่อให้รถรับส่งนักเรียนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ถูกต้อง 100% ซึ่งในวันที่ 15 มิ.ย. นี้จะดำเนินการจัดสัมมนาทำความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการ สถานศึกษา และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายบุญรัตน์ ภูอุทัย อายุ 46 ปี เจ้าของรถรับจ้างรับส่งนักเรียน กล่าวว่า ได้นำรถเข้ามาตรวจสภาพและขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง โดยได้เข้ามาที่ขนส่ง จ.กาฬสินธุ์เป็นครั้งที่ 2 เงินลงทุนดัดแปลงรถให้ตรงตามที่ขนส่งกำหนดไว้ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของขนส่ง นอกจากนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน
รวมถึงลดความกังวลของผู้ปกครองในการเดินทางไปโรงเรียนทุกๆ เช้า อย่างไรก็ตาม อยากจะให้เพื่อนผู้ประกอบการรีบมาดำเนินการให้เรียบร้อยจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันและร่วมกันลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกันด้วย