xs
xsm
sm
md
lg

พบเงื่อนงำ จนท.รัฐสวมสิทธิ์ส่งออกสัตว์น้ำจืด ชี้โทษถึงประหารชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กระทรวงยุติธรรมรับมีเงื่อนงำคดี บ.ส่งออกสัตว์น้ำจืดร้อง หลังพบเจ้าหน้าที่เร่งทำคดีและสรุปสำนวนคดีเป็นนอกราชอาณาจักร สร้างความเสียหายนับพันล้านบาท เบื้องต้นพบทำเป็นขบวนการร่วมกันปลอมและสวมสิทธิ์ส่งออกต่างประเทศ ชี้อัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

จากกรณีนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พานายพิสิทธิ์ หล้าสุดตา กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี อินเตอร์เนชั่นแนลโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด บริษัทผู้ส่งออกสัตว์น้ำจืด ยื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรมหลังจากมีกลุ่มบุคคลร่วมกันใช้เอกสารปลอมในการรับรองสัญลักษณ์มาตรฐานการส่งออกสัตว์น้ำจืดไปยังต่างประเทศภายใต้รหัส (TH 1301) ทำให้ได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท จึงขอให้พิจารณารับเป็นคดีพิเศษเนื่องจากมีการทำสำนวนคดีล่าช้าและช่วยติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (12 มิ.ย.) เวลา 12.30 น. กระทรวงยุติธรรม นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ หล้าสุดตา กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี อินเตอร์เนชั่นแนลโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด บริษัทผู้ส่งออกสัตว์น้ำจืด เดินทางยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังพบว่ามีความผิดปกติในสำนวนคดีดังกล่าว

นายสงกานต์กล่าวว่า วันนี้มายื่นเอกสารสำคัญเพิ่มหลังพบมีความผิดปกติ เนื่องจากสำนวนคดีเดิมที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะขยับแต่หลังจากมาร้องที่กระทรวงยุติธรรมกับมีการทำงานเร็วผิดปกติ คือ เตรียมส่งให้พนักงานอัยการประมาณวันที่ 26 มิ.ย.นี้ โดยทราบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐบางรายพยายามจะสรุปสำนวนเป็นคดีนอกอาณาจักรอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี ซึ่งคดีนี้มีพยานเอกสารชัดเจนว่าเกิดเหตุในราชอาณาจักร กระทำผิดทางอาญา รวมถึงก่อนหน้านี้ได้ยื่นหลักทางให้กับ ป.ป.ช.เพราะเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมทำเป็นขบวนการ

ด้านนายธวัชชัยเปิดเผยว่า เบื้องต้นพบนิติบุคคล 4 ราย และอาจมีข้าราชการร่วมกันปลอมและสวมสิทธิ์ส่งออกต่างประเทศ โดยกระทรวงยุติธรรมพิจารณาและนำเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ที่ประชุมได้มีมติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับไปพิจารณาดำเนินการ หากได้ผลประการใดให้แจ้งให้คณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงยุติธรรมทราบต่อไป

นายธวัชชัยเผยอีกว่า สำหรับกระทรวงยุติธรรมจำเป็นต้องดำเนินการโดยรอบคอบ เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 หากพบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดอัตราโทษขั้นสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ส่วนเป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
กำลังโหลดความคิดเห็น