xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่บรรลุผล ชาวอีสานยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ตัวแทนเกษตรกรอีสานร่วม 100 คนบุกศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นถึงนายกรัฐมนตรี ห่วงปมแก้ปัญหาหนี้สินและการพัฒนาชีวิตเกษตรกรไม่บรรลุผล ยื่น 5 ข้อเรียกร้อง ทั้งให้คง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร, จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมแก้ปัญหาระดับภูมิภาค, มีกระบวนการฟื้นฟูอาชีพควบคู่แก้ปัญหาหนี้ ให้นายกรัฐมนตรีช่วยจัดการปัญหา

วันนี้ (5 มิ.ย. 60) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรจากชมรมคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดภาคอีสาน และเครือข่ายองค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งประเทศไทย ประมาณ 100 คน นำโดย นายสมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานชมรมคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดภาคอีสาน และนายวชิระ ศุภรมย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

กลุ่มเกษตรกรทั้งหมดได้เข้ากราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชการที่ 5 หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พร้อมอ่านรายละเอียดเนื้อหาเรื่อง การแก้ปัญหาการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้สมาชิกได้รับทราบ ก่อนเข้าไปยื่นหนังสือบริเวณหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังใหม่ ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ติดราชการต่างอำเภอ มอบหมายให้นายปิยิน ตลับนาค ปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้รับหนังสือแทน เพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง
นายวชิระ ศุภรมย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งประเทศไทย
นายวชิระ ศุภรมย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งมี พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตร เป็นกฎหมายพัฒนาชีวิตเกษตรกรและแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรทั้งประเทศ โดยเกษตรกรทั้งประเทศกว่า 20 ล้านคน เป็นหนี้สินทั้งในและนอกระบบประมาณ 3 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 15 ปี การแก้ปัญหายังไม่คืบหน้าตามความคาดหวังของเกษตรกร

ชมรมคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดภาคอีสาน และเครือข่ายองค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแห่งประเทศไทยตระหนักดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจ จริงใจ พยายามแก้ปัญหาให้เกษตรกรมาโดยตลอด กระทั่งมีคำสั่งที่ 26/2560 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศเห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางดังกล่าว

แต่ยังห่วงว่าการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะไม่สามารถบรรลุผลได้ เพื่อให้การแก้ปัญหาบรรลุผลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและประเทศชาติ ทางชมรมคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดภาคอีสาน และเครือข่ายองค์กรเกษตรกรทั่วประเทศได้เสนอ 5 แนวทางถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ

นายปิยิน ตลับนาค ปลัดจังหวัดขอนแก่น
คือ 1. ไม่ควรยุบ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เนื่องจากเป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ฉบับแรกของประเทศที่เสนอโดยประชาชน 2. ให้ปรับปรุงคำสั่งให้คณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูระดับจังหวัดเข้าร่วมในคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลหนี้สินเกษตรกรระดับจังหวัด เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนทุกมิติ 3. ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมแก้ไขปัญหาเกษตรกรระดับภูมิภาค เพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาให้กระชับ

4. ให้มีกระบวนการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรควบคู่กับการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 5. ให้ระดมพลังสร้างวาระแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปการแก้ปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกร เป็นการเปลี่ยนผ่านทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ยุคใหม่ ตามแนวทางของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ทั้งนี้ หลังการยื่นหนังสือแล้ว นายปิยิน ตลับนาค ปลัดจังหวัดขอนแก่น ได้รับปากต่อหน้ากลุ่มเกษตรกรว่าจะส่งหนังสือข้อเรียกร้องให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการส่งต่อหนังสือดังกล่าวไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง หลังจากนั้นกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดได้แยกย้ายกลับภูมิลำเนา
กำลังโหลดความคิดเห็น