xs
xsm
sm
md
lg

อาชีพใหม่เกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา โกยเงินเกือบครึ่งแสน(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - พบชาวบ้านตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จับหนูนามาเพาะเลี้ยง เริ่มต้น 200 ตัว เพียง 2 เดือนขายได้เงินแล้วกว่า 4 หมื่นบาท เผยหนูนาเป็นอาหารพื้นบ้านหน้าแล้ง แต่นับวันจะหายากจึงหาจับมาเพาะเลี้ยงจำหน่าย เผยปีใหม่มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก



วันนี้ (29 ธ.ค.) นายชาญชัย ภูทองกลม อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 94 หมู่ 5 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวชาวบ้านจะพากันหาจับหนูนาตามหัวไร่ปลายนามาประกอบอาหาร นิยมนำมาย่าง ผัดเผ็ด อ่อม ซึ่งรสชาติของเนื้อหนูนาในหน้าแล้งจะนุ่ม มันดี ให้ไขมันและโปรตีนสูง

นายชาญชัยกล่าวอีกว่า เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนไป นับวันหนูนาจะหาจับยากมากขึ้น ตามหมู่บ้านทั่วไปจึงมีธุรกิจซื้อขายหนูนาเกิดขึ้น ราคาตั้งแต่ตัวละ 80-200 บาท ตามขนาด ซึ่งตนเองก็เคยจับหนูนามารับประทานและแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน พอมีรายได้เสริมเข้าครัวเรือนในฤดูแล้งเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เมื่อเห็นว่ากระแสความนิยมบริโภคหนูนาสูงและราคาดีจึงเกิดไอเดียเลี้ยงหนูนาขาย

เริ่มต้นโดยนำอิฐบล็อกและสังกะสีมาทำเป็นโรงเรือนหรือคอกเพาะเลี้ยงหนูนา 4 คอก บนที่นาท้ายหมู่บ้าน แบ่งเป็นคอกเพาะพันธุ์ 1 คอก อีก 3 คอกสำหรับเพาะเลี้ยงหนูนารุ่น มุงหลังคา กางตาข่าย เพื่อป้องกันแสงแดด เหยี่ยว แมว งู สุนัข มารบกวน ปูพื้นด้วยซีเมนต์ป้องกันการขุดรูหนี ก่อนนำดินลงกลบ ปล่อยตัวผู้ตัวเมียอยู่ด้วยกันเพื่อขยายพันธุ์

ซึ่งหนูนาที่นำมาเพาะพันธุ์และเลี้ยงได้จากไปหาจับเองบ้างและรับซื้อจากคนอื่นบ้าง เพื่อนำมาขุนหรือเลี้ยงให้มีขนาดใหญ่ ใช้ปล้องไม้ไผ่ ท่อพีวีซี ฟาง ให้เป็นที่อาศัยของหนูนา

ขณะที่อาหารก็หาง่ายใกล้ตัว โดยปลูกผักคะน้า ผักกาด ผักบุ้ง ข้าวโพด กุ้ง หอย ปู ปลา หัวมันสำปะหลัง ข้าวเปลือก เป็นอาหาร เมื่ออาหารบริบูรณ์ก็โตง่าย เนื้อมาก ให้รสชาติมันดี

เพียงเริ่มต้นไม่กี่พันบาทก็ได้ฟาร์มเลี้ยงหนูนาขนาด 4 คอก เดือนแรกมีหนูนาประมาณ 50 ตัว และเพิ่มจำนวนเป็น 200 ตัว เพื่อนบ้านที่รู้จักก็มาซื้อและบอกต่อกันไปปากต่อปาก โทร.สั่งจากต่างจังหวัด และไกลถึงกรุงเทพฯ ก็มี โดยจำหน่าย กก.ละ 200 บาท สำหรับรายได้เฉพาะช่วง 2 เดือนที่ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนามามีรายได้ประมาณ 4 หมื่นบาท ขณะที่ออเดอร์ช่วงปีใหม่มีเข้ามาจำนวนมากราวๆ เกือบ 100 ตัวได้

แต่หนูนาในฟาร์มมีจำนวนจำกัด ส่วนหนึ่งก็จะเอาไว้ให้ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นได้กลับมาบ้านช่วงปีใหม่ แต่ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นหนูนาเป็นที่นิยมบริโภคมากขายทุกวัน

ตอนนี้ต้องออกไปหาหนูนาธรรมชาติมาเสริมไว้เพื่อรองรับลูกค้าอีกทางหนึ่ง และพร้อมที่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นแต่จะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ

นายชาญชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาจึงเป็นอาชีพใหม่ที่ตนจะพัฒนาและเลี้ยงต่อไป โดยจัดระบบความสะอาด และความปลอดภัยในโรงเรือนให้ดีกว่านี้ ที่สำคัญต้นทุนต่ำ รายได้ดี ในส่วนของผู้บริโภคเองก็มั่นใจในความปลอดภัยเพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ





กำลังโหลดความคิดเห็น