ศูนย์ข่าวศรีราชา- ทช. ร่วมกับ คพ.เตรียมเร่งแก้ปัญหาแพลงก์ตอนบลูม หรือน้ำเขียว หลังพบเกิดขึ้นบ่อยครั้งเร่งหาสาเหตุอาจเกิดจากน้ำมือมนุษย์ลักลอบปล่อยน้ำเสียส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากพิสูจน์พบใครเป็นต้นเหตุพร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงปัญหาแพลงก์ตอนบลูม หรือน้ำทะเลมีสีเขียวส่งกลิ่นเหม็นนั้น ซึ่งเรื่องนี้ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจเหตุการณที่เกิดขึ้น พร้อมมอบให้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
สาเหตุที่น้ำทะเลเปลี่ยนสีนั้นปกติเกิดจากปราฎการณ์ทางธรรมชาติ ปีละ แค่ 1-2 ครั้ง แต่ในในปีนี้ ทะเลบางแสนเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ซึ่งอาจจะเกิดจากบริเวณดังกล่าวได้รับอินทรีย์วัตถุซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ลักลอบทิ้งลงทะเล ซึ่งอินทรีย์วัตถุนั้นไปถูกความร้อน หรือแสงแดดจะทำปฏิกิริยากัน
ส่วนแพลงก์ตอนนั้นมีอยู่ทุกพื้นที่ เมื่อพื้นที่บริเวณไหนมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหารแพลงก์ตอนดังกล่าวก็จะมาอยู่รวมตรงจุดนั้นมากขึ้น แต่แพลงก์ตอนจะมีอายุสั้น และตายเร็ว ที่สำคัญจะใช้ออกซิเจนในน้ำ ทำให้แย่งระบบนิเวศจากสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือสัตว์หน้าดินที่ไม่สามารถจะหนีไปไหนได้ทัน และตายเป็นจำนวนมาก แต่สัตว์น้ำขนาดใหญ่สามารถว่ายน้ำหลบหนีจากจุดนั้นได้ทันจึงไม่ได้รับผลกระทบ
นายชลธิศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเกิดแพลงก์ตอนบลูมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณชายหาดเท่านั้น ในกลางทะเลก็เกิดได้ โดยถูกกระแสน้ำพัดเข้ามาสู่ชายหาด เนื่องจากอ่าวไทยเป็นรูปโค้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีคนทิ้งน้ำเสีย หรือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็จะไหลมารวมกันจึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น
ขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ จับมือกันเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ โดยกำลังเฝ้าติดตามต้นกำเนิดของแหล่งมลพิษเหล่านี้ หากทราบว่าหน่วยงานไหน หรือผู้ใดปล่อยน้ำเสีย หรือทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไปก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ด้าน นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าวถึงปัญหาน้ำเขียว หรือแพลงก์ตอนบลูม ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำทะเลจะมีกลิ่นเหม็น ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวหรือพักผ่อน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่ในพื้นที่ที่เกิดปัญหา แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงประมาณ 2-3 วัน สภาพน้ำทะเลที่มีสภาพสีเขียวขุ่นก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติเช่นเดิม
สำหรับในปีนี้ บริเวณชายหาดบางแสนประสบปัญหาแพลงก์ตอนบลูมมากถึง 4 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.ค.ถึง ส.ค.2558 นี้ นอกจากนั้น พื้นที่ใกล้เคียงเช่น อ.ศรีราชา ก็เกิดขึ้นด้วย แต่ขณะนี้ทราบว่า ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมศึกษา และวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีทำให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลง หรือหมดไป