xs
xsm
sm
md
lg

ทช.ติดตามแก้ปัญหากัดเซาะ “ชายหาดบางแสน-หาดวอนนภา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชลธิศ สุรัสวดี  อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พานักข่าวดูพื้นที่การกัดเซาะชายหาดบางแสน
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทช. ติดตามปัญหาการกัดเซาะชายหาดบางแสน-หาดวอนนภา หลังเป็นพื้นที่ต้องเร่งแก้ไขเร่งด่วน โดยจ้างเอกชนศึกษา และวางรูปแบบ ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สผ.

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่เทศบาลเมืองแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมคณะ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการป้องกันและการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งชายหาดบางแสน และหาดวอนนภา โดยมี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

นายชลธิศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,148 กิโลเมตร เป็นชายฝั่งด้านอ่าวไทย 17 จังหวัด ยาว 2,055 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ยาว 1,093 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 12 ล้านคน โดยเฉพาะหาดทรายนับเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวชายทะเล ที่สร้างรายได้รวมมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี

สำหรับชลบุรี มีชายหาดยาว 171 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะยาว 25 กิโลเมตร โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาว 12 กิโลเมตร มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวกว่า 55 ล้านบาทต่อปี มีพื้นที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งยาว 4 กิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านหาดวอนนภา มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งเฉลี่ย 5 เมตรต่อปี นับเป็นพื้นที่วิกฤตต้องเร่งแก้ไขเร่งด่วน ก่อนจะสูญเสียที่ดินชายฝั่ง และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

นายชลธิศ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทาง ทช.พยายามหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากพบว่าทรายในพื้นที่ชายหาดบางแสนถูกพัดออกไป และไปตกตะกอนในพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้น มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยจะเติมทราย ซึ่งกระบวนการนี้ทางบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ดำเนินการอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

เพราะการแก้การกัดเซาะชายฝั่งจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่มองเฉพาะมุมเดียว แต่จะมองถึงโอกาสในการพัฒนา การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและ การยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของผู้ที่อาศัยในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย โดยกรมมองว่าคน สังคม วัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเสมือนเป็นเจ้าของบ้าน และ ทช.เป็นผู้ให้การสนับสนุน

ด้าน นายณรงค์ชัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ว่าจ้างให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำการศึกษาวิเคราะห์ และวางแนวทางป้องกันการกัดเซาะ เช่น 1.ก่อสร้างหัวหาดรูปตัวที 10 ตัว ความยาวตัวละ 140 เมตร ระยะห่างระหว่างหัวหาดประมาณ 550 เมตร ห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร 2.ก่อสร้างคันดักทรายความยาวตัวละ 100 เมตรที่ด้านเหนือ และด้านใต้โครงการ 3 ตัว 3.เติมทรายชายฝั่งกว้างไม่น้อยกว่า 50 เมตร ความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ราคาค่าก่อสร้าง 647,140,000 บาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 30 เดือน โดยโครงการดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA.) เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอนุมัติเพื่อดำเนินการต่อไป

หากไม่รีบดำเนินการปัญหาจะบานปลาย เพราะน้ำทะเลจะกัดเซาะพื้นที่ชายหาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านอาจไม่มีที่อยู่อาศัย และพื้นที่การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นชายหาดจะลดลง จนไม่มีชายหาดเหลืออีกต่อไป โดยจะส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลงด้วย

ด้าน นายกษิติ วิชิตอักษรพงศ์ ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า ได้ศึกษาออกแบบเรียบร้อยแล้ว มีการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว 1 ครั้ง ซึ่งแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขและได้แก้ไขตามคำแนะนำแล้ว จากนั้นจะนำส่งให้ ทช.ต่อไป โดยทาง ทช.จะเสนอต่อ สผ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าไม่น่ามีปัญหาหรือแก้ไขอะไรเพิ่มแล้ว
ชี้แนวทางการแก้ไขปัญหา
บริษัทที่ปรึกษา ขั้นตอนการดำเนินการในขณะนี้
พื้นที่ชายหาดบางแสน และหาดวอนนภา  ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น