กาฬสินธุ์ - ตัวแทนชาวบ้านในอำเภอกุฉินารายณ์ล่ารายชื่อบุกยื่นหนังสือ ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ จี้ทบทวนการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินถนนสายเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) หลังจะได้รับค่าเวนคืนต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง และไม่ผ่านประชาคมชาวบ้าน ด้าน ผอ.แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์รับเรื่อง พร้อมส่งผู้บังคับบัญชาส่วนกลาง ยันคณะกรรมการฯ ประเมินราคาตามหลักเกณฑ์ประเมินราคาซื้อขายของกรมที่ดินและกรมธนารักษ์ แนะชาวบ้านหากคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถยื่นอุทธรณ์ได้
จากกรณีชาวบ้านใน ต.กุดหว้า ต.จุมจัง ต.เหล่าไฮงาม และ ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กว่า 200 คน รวมตัวกันและถือป้ายเพื่อขอความเป็นธรรมในการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินการสร้างถนนสายแม่สอด (เขตแดน)-มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หรือถนนสายเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) พร้อมเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้แก่ชาวบ้านใหม่
ชาวบ้านระบุว่า การดำเนินการสร้างถนนสายดังกล่าวทางแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ไม่เคยทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์ร่วมกันชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และประเมินจ่ายค่าเวนคืนต่ำและไม่สอดคล้องกับราคาขายจริงในพื้นที่
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (27 ธ.ค.) ตัวแทนชาวบ้าใน ต.กุดหว้า ต.จุมจัง ต.เหล่าไฮงาม และ ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ กว่า 20 คน นำรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน การก่อสร้างถนนสายแม่สอด (เขตแดน)-มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หรือถนนสายเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายอำนาจ ป้านสุวรรณ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ เพื่อขอความเป็นธรรมและส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการจ่ายค่าเวนคืนให้แก่ชาวบ้านใหม่ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน
นางชุติภา บุตรดีวงษ์ ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเดินทางมายื่นหนังสือวันนี้ เพราะชาวบ้านใน 4 ตำบลของ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ อย่างน้อย 150 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนสายแม่สอด (เขตแดน)-มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หรือถนนสายเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) จริงๆ เนื่องจากจะได้รับค่าเวนคืนที่ดินเฉลี่ยไร่ละ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมาก ต่ำกว่าราคาซื้อขายในพื้นที่จริง
ที่ผ่านมาแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ไม่ได้ทำประชาคมกับชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย แต่กลับไปทำประชาคมกับผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านที่ไม่ได้รับผลกระทบ จึงทำให้ชาวบ้านซึ่งถูกถนนสายดังกล่าวตัดผ่านที่ไร่ที่นาไม่ทราบเรื่อง แต่กลับมีหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าเวนคืน
นางชุติภากล่าวอีกว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากถนนตัดผ่านส่วนใหญ่จะเป็นที่ไร่ ที่นา และใช้พื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าว ปลูกพืชเลี้ยงครอบครัว ซึ่งนอกจากจะประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำแล้ว ซ้ำยังถูกหน่วยงานภาครัฐบังคับใช้กฎหมายเอาพื้นที่ไร่นาที่ตกทอดเป็นมรดกและใช้ทำมาหากินไปทำถนน โดยจ่ายค่าเวนคืนในราคาต่ำและไม่เป็นธรรมอีกด้วย จึงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน บางรายที่ป่วยเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้วทราบข่าวถึงกับตรอมใจล้มป่วยหนักกว่าเดิม
อีกทั้งบางรายมีพื้นที่ไร่นาเพียง 2-3 ไร่ที่เอาไว้ทำมาหากิน ซึ่งถูกถนนตัดผ่านทั้งหมด แต่ได้ค่าเวนคืนต่ำไม่สามารถไปซื้อที่นาผืนใหม่ทำมาหากินได้ นอกจากนี้บางรายยังถูกถนนตัดผ่านไร่นากว่า 10 ไร่ จะได้ค่าเวนคืนเฉลี่ยไร่ละ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งหากนำเงินที่ได้รับเวนคืนไปซื้อไร่นาใหม่เพียง 1 ไร่ก็ไม่ได้ เพราะราคาซื้อขายกันจริงๆ ในพื้นที่เฉลี่ยไร่ละ 4-5 แสนบาท อย่างไรก็ตาม การสร้างถนนครั้งนี้ชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน หรือขวางทางความเจริญของบ้านเมือง
เพียงแต่ต้องการขอความเป็นธรรม ขอให้หน่วยงานภาครัฐคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมในการจ่ายค่าเวนคืนด้วย ดังนั้นชาวบ้านจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทบทวนการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินใหม่
ด้านนายอำนาจ ป้านสุวรรณ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องไว้ และจะส่งรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาส่วนกลาง ทั้งนี้ สำหรับถนนสายดังกล่าวเป็นถนนสายแม่สอด (เขตแดน)-มุกดาหาร ตอนกาฬสินธุ์-น้ำไคร้ หรือที่เรียกว่าถนนสายเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตอนที่ 2 เริ่มก่อสร้างตั้งแต่บริเวณสามแยกปั๊มน้ำมันตำบลหลุบ ไปสุดเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร
การก่อสร้างครั้งนี้ต่อเนื่องจากถนนตอนแรกที่ได้สร้างเสร็จแล้วตั้งแต่บริเวณสามแยกโกลบอลเฮ้าส์มาถึงปั๊มน้ำมันตำบลหลุบ รวมงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 3,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านร้องขอความเป็นธรรมในการจ่ายค่าเวนคืนใหม่ ยืนยันว่าคณะกรรมการในระดับจังหวัด ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด แขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการมอบจากมติรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้าง ได้ร่วมกันดำเนินการตามขั้นตอนและตามกฎหมายทุกอย่าง โดยประเมินการเวนคืนที่ดิน ยึดหลักเกณฑ์ราคาประเมินซื้อขายของกรมที่ดินและกรมธนารักษ์ในปี 2558 โดยบวกค่าเจริญเติบโตของเมืองเข้าไปด้วยแล้ว พร้อมทั้งจ่ายค่ารื้อถอน และค่าต้นไม้ด้วย
ทั้งนี้ หากประชาชนที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมการจ่ายค่าเวนคืน หรือคิดว่าได้ค่าเวนคืนราคาต่ำนั้น หากพื้นที่ไร่นาของตนเองมีโฉนดก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนกรณีที่ชาวบ้านระบุว่าไม่ได้ทำประชาคมนั้น ก็ขอยืนยันว่าแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ได้เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านมาทำประชาคมแล้ว แต่หากชาวบ้านต้องการก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจใหม่อีกครั้ง