ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ชี้ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ภาคตะวันออก คือ พื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องในหลายด้าน แนะประชาชนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้แก่ตนเอง รับการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (17 ธ.ค.) วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการด้านการบริหารธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ในเขตชายฝั่งตะวันออก ครั้งที่ 5 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 8 วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ โดยมี รศ.สุนันทา โอศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานเปิดงาน และมีอาจารย์ไพรินทร์ ทองภาพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาว่า เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางด้านงานวิจัยระหว่างนักวิชาการ บุคลากรสายวิชาการ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาทั้งในปริญญาโท และเอก ที่อยู่ในภาคโรงงานอุตสาหกรรมในเขตชายฝั่งตะวันออก ได้นำเสนอผลงานวิจัยและเพิ่มคุณค่าของงานวิจัย โดยมีประชาชน ผู้สนใจ และนิสิตของวิทยาลัยฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก
ภายในงานยังจัดให้มีการปาถกฐาพิเศษเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับอุตสาหกรรมที่สมดุล” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมของคณาจารย์ และนิสิต เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ลลิต กล่าวตอนหนึ่งว่า ในอดีตชุมชนภาคตะวันออก ถือเป็นสังคมแห่งการทำประมง แต่เมื่อความเจริญเริ่มเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะหลังการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเข้ามาของอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดใหญ่ได้เปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งหากประชาชนปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทันย่อมก่อให้เกิดปัญหา
“เมื่อกว่า 20 ปีก่อน มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่า ในอนาคตภาคตะวันออก จะมีความเจริญเป็นอย่างมาก และจะมีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นับล้านคน โดยเฉพาะชุมชนอ่าวอุดม ที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าล้านคน ในครั้งนั้นผมไม่เชื่อเลยสักน้อย แต่เมื่อการเกิดขึ้นของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เริ่มเป็นจริง จากสังคมประมง สู่สังคมแห่งการท่องเที่ยว และขยับสู่การเป็นสังคมแห่งภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากประชาชนยึดคำสอนของในหลวง ร.๙ เรื่องของความพอดี พอเพียง และความพอประมาณ ก็จะเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ความเจริญ และจะสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ลลิต ยังบอกอีกว่า หลักคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และความพอประมาณ ของในหลวง ร.๙ มุ่งเน้นที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงความจริงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ต่างๆ ขณะที่วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่น้อมนำหลักคำสอนของพระองค์มาปลูกฝังนิสิตในแต่ละรุ่นอย่างต่อเนื่อง จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากร ให้มีความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จำเป็นต้องมีภายใต้เหตุผลทางเศรษฐกิจและการแข่งขัน
ดังนั้น จึงขอฝากให้ประชาชนทุกคนน้อมนำคำสอนของในหลวง ร.๙ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความพอดี และพอประมาณ ซึ่งจะช่วยให้ไม่ให้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นก็ตาม