xs
xsm
sm
md
lg

“มข.” ทุ่ม 15 ล้านจับมือ “แสงซินโครตรอน” ยกระดับคุณภาพวิจัยไทยในเวทีนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย-ขวา ) ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดี มข.  , รศ.วิทยา อมรกิจบำรุง , ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิจร ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ ดร.สมชาย ตันชรากรณ์
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “มข.” จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทุ่ม 15 ล้านทำสัญญาใช้แสงซินโครตรอนนาน 3 ปี มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ และการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน

วันนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กับ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ร่วมลงนามสัญญาการให้บริการแสงซินโครตรอน ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับ มข. เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเพิ่มศักยภาพงานวิจัย โดยมีระยะเวลาผูกพัน 3 ปี

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ซึ่งการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ การตีพิมพ์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาตินั้นจะต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยที่มีคุณภาพสูง ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าใช้บริการแสงซินโครตรอนกว่า 200 โครงการ สามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ ได้กว่า 60 ผลงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแสงซินโครตรอนสามารถเข้ามาตอบโจทย์งานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลงานของนักวิจัยที่เข้ามาใช้แสงซินโครตรอนที่โดดเด่น อาทิ ผลงานของ ผศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้แสงซินโครตรอนในการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมยุคใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีค่าผลกระทบ Impact Factor สูงถึง 16.146 รวมถึงได้รับคัดเลือกให้ออกแบบหน้าปกหลังของวารสาร Advanced Energy Materials ฉบับเดือนสิงหาคม 2558 ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้อีกด้วย

การลงนามสัญญาการให้บริการครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะได้รับสิทธิ์ในการเข้ามาใช้แสงซินโครตรอนครึ่งหนึ่งของรอบการให้บริการแสงแต่ละรอบของระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W Multiple X-ray Techniques

อีกทั้งสัญญายังครอบคลุมกิจกรรมพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ด้านต่างๆ โดยเป็นการบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศ และพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืน

ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีพันธกิจในการให้บริการแสงซินโครตรอนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การลงนามสัญญาการให้บริการแสงซินโครตรอนระหว่างสถาบันฯ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และเพิ่มศักยภาพงานวิจัยให้แก่ประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทุ่มเงินให้กับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเป็นจำนวน 15 ล้านบาท มีระยะเวลาผูกพันถึง 3 ปี

โดยสามารถเข้ามาใช้บริการแสงซินโครตรอน ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W Multiple X-ray Techniques เป็นระบบลำเลียงแสงที่สามารถรองรับการทดลองได้หลากหลายเทคนิค โดยทดลองกับสารตัวอย่างตัวเดียวกันและวัดผลในสภาวะเดียวกัน แสงซินโครตรอนที่ระบบลำเลียงแสงนี้มีความเข้มและพลังงานสูงทำให้สามารถวัดสารตัวอย่างที่มีความเข้มข้นต่ำได้
ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

ระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W Multiple X-ray Techniques


กำลังโหลดความคิดเห็น