ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ซินโครตรอน” ลงนาม MOU ร่วม “SCG” ขยายเวลาความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องหลังประสบความสำเร็จ เพื่อเดินหน้าการวิจัยพัฒนาวัสดุก่อสร้างไทยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รองรับการแข่งขันในตลาดโลก
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ นายปริญญา สายน้ำทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด ในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ได้ร่วมกันลงนามขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านวัสดุก่อสร้าง
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับงานวิจัยไทย โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านปูนซีเมนต์ เนื่องจากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีแห่งเดียวในเมืองไทยและเป็นแห่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ทั้งนี้ เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุก่อสร้างได้ทั้งในระดับอะตอม ระดับนาโนเมตร โครงสร้างผลึกและการจัดเรียงตัวของโมเลกุล ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้สัมพันธ์โดยตรงกับคุณสมบัติของวัสดุ สามารถนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการได้
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับแรกนั้น ได้ลงนามร่วมกันมาเมื่อปี 2555 โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านทั้ง 2 องค์กรได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทั้งในด้านวิชาการ ได้แก่ การใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนจากนักวิจัยของบริษัทสยามวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประสบความสำเร็จ มีผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ
นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านงานบริหารองค์กร โดยเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า บริษัทสยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด มีโครงสร้างองค์กรที่แข็งแกร่ง โปร่งใส และมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของการบริหารองค์กร
ด้าน นายปริญญา สายน้ำทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด ในเครือ SCG Cement-Building Materials กล่าวว่า การที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงองค์ประกอบและสมบัติของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่เรามี เพื่อที่จะทำให้เราสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปต่อยอด และสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ได้ โดยการที่จะได้มาซึ่งความรู้เชิงลึกเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า แสงซินโครตรอน
“ส่วนการลงนามขยายเวลาบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อการพัฒนานวัตกรรมของไทยอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายปริญญากล่าวในตอนท้าย