สุรินทร์ - ยิ่งใหญ่ส่งท้าย! การแสดงช้างสุรินทร์ “รวมช้าง รวมใจ ไว้อาลัยพ่อหลวง” ใช้นักแสดงกว่า 1,000 คน และช้างกว่า 190 เชือก พร้อมแปรอักษรด้วยช้าง 190 เชือก เป็นเลข ๙ ในกรอบรูปหัวใจ ท่ามกลางประชาชน นักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ เข้าร่วมชมแสดงความไว้อาลัย “ในหลวง ร.๙” เนืองแน่น ก่อนร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีกึกก้อง
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นับเป็นวันที่สองที่จังหวัดสุรินทร์มีการจัดแสดงช้างขึ้น ภายใต้ชื่องาน “รวมช้าง รวมใจ ไว้อาลัยพ่อหลวง” โดยมีประชาชนชาว จ.สุรินทร์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเดินทางเข้ามาชมจนเต็มอัฒจันทร์ทั้งสองฝั่ง ซึ่งการแสดงช้างครั้งนี้ใช้นักแสดงเข้าร่วมกว่า 1,000 คน และช้างกว่า 190 เชือก จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 19-20 พ.ย. 2559 โดยที่นั่งฝั่งตะวันตกเปิดให้ประชาชนชมการแสดงฟรี ส่วนที่นั่งฝั่งตะวันออกจำหน่ายบัตรราคา 500 บาทให้แก่นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ การแสดงแต่ละฉากหรือองก์การแสดงนั้นเหมือนกันทั้งสองวัน ด้วยฉากการแสดงเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 4 องก์ ประกอบด้วย
องก์ที่ 1 “ใต้ร่มพระบารมี” เป็นการแสดงออกของพสกนิกรชาวไทยที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินขวานทองของสุวรรณภูมิ ที่ชื่อว่า ประเทศไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เภทภัยที่กล้ำกรายเข้ามาทำร้ายปวงชนชาวไทย พระบารมีพระองค์ทรงปกป้องปัดเป่าผืนแผ่นดินที่เร่าร้อนดั่งไฟให้สุขสงบร่มเย็นทุกตารางนิ้วของแผ่นดินที่ทุกข์ยาก โดยพระอัจฉริยภาพกับความมุ่งมั่นในพระราชหฤทัยของพระองค์ที่มีต่อประชาชนของพระองค์ที่จะบรรเทาทุกข์ และสร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืน โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย “นับว่าเป็นบุญนักแล้วที่ได้เกิดภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
โดยมีการฉายภาพวิดีโอบนจอขนาดใหญ่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจสมัยที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดสุรินทร์ครั้งแรกเมื่อปี 2498 อีกด้วย
องก์ที่ 2 “สุรินทร์เมืองช้าง” เป็นฉากการเล่าตำนานเมืองสุรินทร์ที่เป็นอณูหนึ่งของขวานทองแห่งสุวรรณภูมิ ก่อเกิดด้วยพระเมตตาแห่งบูรพกษัตราธิราชแห่งกรุงสยาม จากกลุ่มชนเล็กๆ หลายกลุ่มในภาคอีสานตอนล่าง มีทั้ง ไทย เขมร ลาว และกูย ที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ วิถีชีวิตที่โดดเด่นในความสามารถของกลุ่มชน ในการจับช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่มาใช้งานที่มีชื่อเรียกขานว่า ชาวกวย หรือกูย อันเป็นวิถีที่สร้างชื่อ “สุรินทร์เมืองช้าง”
ครั้งหนึ่งในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์) แห่งกรุงศรีอยุธยา มีช้างเผือกเขตกรุงหนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่เขตพิมาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ขุนนางสองพี่น้อง กับไพร่พล 30 คน ออกติดตามช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย ได้มาสืบถามร่องรอยช้างจากชาวเมืองพิมาย ซึ่งเป็นผู้ชำนาญภูมิประเทศในแถบนั้น โดยให้ไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที เชียงปุมได้ร่วมสมทบกับขุนนางสองพี่น้องพากันไปหาเชียงไชย ที่บ้านกุดปะไท ไปหาตากะจะ และเชียงขัน ที่บ้านโคกลำดวน ไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง จึงทราบข่าวจากเชียงฆะว่าได้พบช้างเผือก และช่วยกันจับช้างเผือกส่งพระนคร
ต่อมาหัวหน้าชาวกูยผู้นั้นได้รับราชการกับพระราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี จากนั้นอีกสามปีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกหมู่บ้านคูประทายขึ้นเป็นเมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงสุรินทร์ภักดี เป็นพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง แล้วให้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองประทายสมันต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งปี 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ ตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง เมืองนี้จึงมีชื่อใหม่ว่า เมืองสุรินทร์ และต่อมาคือ จังหวัดสุรินทร์
องก์ที่ 3 “คชสารคู่พระบารมีคู่แผ่นดิน” เป็นฉากแสดงถึงช้างเผือกเป็นช้างกำหนดพระราชอำนาจบุญญาธิการบารมีของแผ่นดิน ความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ สมัยอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิหรือพระเจ้าช้างเผือก ประเทศเพื่อนบ้านก่อสงคราม อันเป็นเหตุจากการขอช้างเผือกคู่บารมีไปประดับบุญญาธิการของแผ่นดินตนเอง จึงเกิดสงครามช้างเผือกขึ้น จากประวัติศาสตร์ของช้าง คู่พระบารมี คู่แผ่นดิน มีมามิได้ขาด รัชกาลที่ ๙ มีช้างเผือกคู่พระบารมี ย้อนลึกลงไปสู่ประวัติศาสตร์ของชาติ ช้างคู่บารมี คู่แผ่นดิน ในการปกปักรักษาอาณาจักร การกู้ชาติ กู้แผ่นดิน ที่ถูกจารจารึกในสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราเหล่าข้าราชบริพารขอกราบสดุดีพระมหาวีรกรรมแห่งบูรพากษัตราธิราชเจ้า ผู้กู้ชาติ กู้แผ่นดิน ให้ลูกหลานได้มีผืนดิน ผืนฟ้าได้อาศัย อยู่ใต้ร่มบรมโพธิสมภารอย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบมา
แม้ในยามปัจจุบัน ข้าศึกภายนอกหามีไม่ แต่ภัยจากธรรมชาติที่แปรปรวน และภัยเศรษฐกิจต่างถาโถมเป็นมรสุมที่รุนแรง แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงช่วยปัดเป่าให้พสกนิกรได้คลายทุกข์ ไร้โศก ปกร้อน ห่มเย็น ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการตามพระราชโองการที่พระองค์พระราชทานไว้ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ข้าพระพุทธเจ้าพสกนิกรชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
องก์ที่ 4 “รวมช้าง รวมใจ ไว้อาลัยพ่อหลวง” จากที่พ่อทรงงานหนักตลอดระยะเวลา 70 ปีเพื่อพสกนิกรชาวไทย พ่อเหนื่อย พ่อไม่เคยหยุดพัก ขณะที่พ่อป่วยอยู่โรงพยาบาลพ่อยังมองลูกๆ ของพ่อด้วยความห่วงใย และในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่ชาวไทยไม่อยากให้เกิดก็มาถึง ฟ้ามืดสลัวปกคลุมแผ่นดินไทย น้ำตาประชาราษฎร์ไหลอาบแก้ม ท่วมท้นลงสู่ดิน เมื่อได้ยินความสูญสิ้นพ่อหลวงของปวงไทย จากนี้ไปจะขอจดจำรอยทางที่พ่อสร้าง ความรักห่วงใยที่พ่อให้ ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงอยู่ในใจ จะทำให้ชาติไทยสุขร่มเย็น
ด้วยการแปรอักษรด้วยช้างจำนวน 190 เชือกเป็นเลข ๙ ภายในกรอบรูปหัวใจอีกชั้น และมีนักแสดงทหารโบราณยืนแปรอักษร เป็นคำว่า SURIN อย่างยิ่งใหญ่สวยงาม สร้างความประทับใจแก่ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต่างปรบมือด้วยความปลื้มปีติร่วมกับนักแสดง ก่อนที่ทั้งประชาชนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติจะพร้อมใจกันยืนตรงเพื่อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกันอย่างอบอุ่นและปลื้มปีติกับชุดการแสดงที่คนไทยจัดขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช