xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นถอดบทเรียนท่องเที่ยวไทย หวังสร้างชาติกู้เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาลญี่ปุ่นศึกษาบทเรียนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย หวังยกระดับแดนอาทิตย์อุทัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เทียบชั้นยุโรป โดยคัดเลือกนักท่องเที่ยวคุณภาพ และอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวไปในขณะเดียวกัน

ถึงแม้การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจะคึกคักขึ้นอย่างชัดเจน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนมากถึง 20 ล้านคนต่อปี แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปญี่ปุ่นยังเทียบไม่ได้กับประเทศไทย ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึงปีละ 30 ล้านคน

ประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในโลก คือ ฝรั่งเศส ที่มีผู้ไปเยือนมากกว่า 84 ล้านคนต่อปี ขณะที่ในเอเชีย จีนต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 57 ล้านคนต่อปี โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก

ถึงแม้ญี่ปุ่นยังตามหลังตามหลังยุโรป และประเทศไทย ในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ในแง่ของอัตราการเติบโตแล้ว ญี่ปุ่นถือเป็นอันดับ 1 ด้วยการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่อปีมากถึง 47.1%

ในปีนี้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนญี่ปุ่นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 20 ล้านคน แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อะเบะ ไม่พอใจแค่นั้น ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีก 2 เท่าตัว เป็น 40 ล้านคนในปี 2020 เป้าหมาย 40 ล้านคนนี้ จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายทางการท่องเที่ยวอันดับที่ 6 รองจากอิตาลี
สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มประเทศเอเซีย
แซงไทย ไม่สนเกาหลี มุ่งเป็นที่ 2 ในเอเชีย

หากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคเอเชีย จีนคือประเทศอันดับ 1 ด้านการท่องเที่ยว ตามมาด้วยไทย, ฮ่องกง, มาเลเซีย และญี่ปุ่น อยู่ในอันดับที่ 5

จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามหลากหลาย จึงเป็นเรื่องแน่นอนที่จะเป็นที่ 1 ในเอเชีย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงศึกษาประเทศไทยเพื่อวางยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะมองว่าฮ่องกง, มาเลเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้ เป็นเพียง “เมืองท่า” เท่านั้น ในแง่ของแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมแล้วเทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้เลย

ยินดีต้อนรับ “นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก”

มาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากการผ่อนคลายวีซ่า และการลดภาษีแล้ว ยังรวมถึงการเพิ่มเส้นทางบินระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ, ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในภูมิภาค และผลักดันสถานที่ท่องเที่ยวให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ญี่ปุ่นพิจารณา 2 เกณฑ์หลักในด้านการท่องเที่ยว คือ 1. จำนวนนักท่องเที่ยว และ 2. จำนวนเงินที่นักท่องเที่ยวใช้จ่าย โดยมุ่งคัดเลือกนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูง มากกว่าเปิดประเทศให้มาเที่ยวกันอย่างเสรี

ปัญหาที่ญี่ปุ่นพบ คือ นักท่องเที่ยวจากจีน และเกาหลีใต้ มีมากถึงครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมุ่งหวังที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆให้หลากหลาย โดยเฉพาะจากประเทศอาเซียน และที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากกว่า 6 แสนคนต่อปี เพิ่มขึ้น 3 - 4 เท่าตัวจากการยกเว้นวีซ่า

ในด้านการจับจ่ายใช้สอย นักท่องเที่ยวที่มาญี่ปุ่นใช้จ่ายเฉลี่ย 150,000 เยน และรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าเพิ่มการใช้เงินของนักท่องเที่ยวเป็น 200,000 เยน แต่ค่อนข้างลำบากเพราะค่าเงินเยนแพงขึ้นอย่างมาก

เมืองไทย ใครๆ ก็มาได้ !

จากสถิติพบว่าชาวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากกว่าที่ชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวไทยอย่างชัดเจน ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยตั้งแต่ 10 - 20 ปีก่อน และไม่ค่อยได้กลับมาเที่ยวซ้ำ ญี่ปุ่นได้ถอดบทเรียนจากการท่องเที่ยวไทย พบว่า ที่ไทยยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก เพราะเป็นศูนย์กลางคมนาคมในภูมิภาค นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางต่อยังไปพม่า, กัมพูชา หรือเวียดนาม ล้วนแต่ต้องผ่านประเทศไทย

ปัญหาของการท่องเที่ยวไทย คือ การเปิดประเทศอย่างเสรีที่สุด ชาวต่างชาติทุกระดับสามารถเดินทางมาเมืองไทยได้โดยแทบไม่มีข้อจำกัด รวมไปถึงการคมนาคมที่ย่ำแย่ การเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การโก่งราคาขายสินค้าไปถึงการหลอกลวงอย่างเป็นขบวนการ

ชาวญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับประเทศไทย บอกว่า ตลอดเวลากว่า 10 ปี ที่เดินทางมาเยือน เมืองไทย แทบจะเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือ ความแออัด หากประเทศไทยยังคงเดินตามเส้นทางที่ไม่ยั่งยืนนี้ เป้าหมายที่ญี่ปุ่นจะแซงหน้าเมืองไทยในด้านการท่องเที่ยวก็จะบรรลุได้แน่นอนภายในเวลาไม่กี่ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น