xs
xsm
sm
md
lg

อาชีพมัดฟ่อนข้าวคืนชีพ หลังชาวนาย้อนวิถีทำนาดั้งเดิม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมกลุ่มช่วยกันมัดฟ่อนข้าวก่อนขนขึ้นลานสีเป็นข้าวเปลือก ซึ่งมีทั้งรับจ้าง และแลกเปลี่ยนแรงงาน เป็นการช่วยเหลื่อเพื่อนชาวนาฝ่าวิกฤตค่าจ้างแรงงานสูง รถเกี่ยวราคาแพง แต่ขายข้าวยังราคาตกต่ำ



วันนี้ (19 พ.ย.) จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แม้ราคาข้าวยังอยู่ในช่วงวิกฤตราคาตกต่ำ แต่ชาวนาในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์จำนวนมากยังเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยหันมาฟื้นภูมิปัญญาการเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบดั้งเดิมแทนการจ้างเครื่องจักรที่มีราคาสูง และต้องรอคิวอีกนาน

จึงได้มีการรวมตัวกันของชาวนาแลกเปลี่ยนแรงงานมัด และเก็บฟ่อนข้าว เพื่อตัดภาระค่าจ้างแรงงาน โดยข้าวที่จะมัดเป็นฟ่อนจะตากไว้ในนาข้าวเป็นเวลา 2-3 วัน จึงเริ่มดำเนินการ

นายพิชัย ภูบุตรตะ อายุ 50 ปี ชาวนาบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า อาชีพทำนาในทุกวันนี้นิยมจ้างแรงงาน และใช้เครื่องจักรกลทุกขั้นตอน รวมทั้งต้องซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโต หรือแม้แต่ตอกที่ใช้มัดฟ่อนข้าวก็ยังต้องซื้อ ทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น ผลสุดท้ายขาดทุน เพราะผลผลิตตกต่ำ นำข้าวไปขายได้ราคาต่ำ

โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ชาวนาต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ ขายข้าวราคาตก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ตนมีที่นา 10 ไร่ จ้างแรงงาน และเครื่องจักรกลทุกขั้นตอน ทั้งไถ คราด หยอดเมล็ดพันธุ์ ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จ้างคนเกี่ยวทั้งหมด ถึงวันนี้รวมเงินลงทุนไปแล้วกว่า 2หมื่นบาท หากมีการจ้างแรงงานในขั้นตอนการมัด และเก็บฟ่อนข้าว รวมทั้งค่ารถสีข้าว และบวกค่าขนส่งด้วยอีก คงขาดทุนยับเยิน

ประกอบกับเมื่อประเมินสถานการณ์ราคารับซื้อข้าวในช่วงนี้ที่ยังอยู่ในขั้นต่ำสุด เห็นเพื่อนชาวนานำไปขายแล้วขาดทุนก็ตกใจ

จึงคิดหาวิธีการประหยัดทุน โดยชักชวนเพื่อนชาวนาที่เก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกันมาช่วยแรงงาน ทั้งจ้างวาน และแลกเปลี่ยนแรงงานกันตามความเหมาะสม ด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน

“ข้าวที่ร่วมแรงกันมัดเป็นฟ่อนนี้ คือ ส่วนของฟาง และรวงข้าวที่ได้จากใช้แรงงานคนเกี่ยว ผึ่งแดดให้แห้ง 3 แดดแล้วใช้ตอกมัดเป็นฟ่อน ทั้งนี้ ในการมัดฟ่อนข้าวนอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนแรงงานกันแล้ว ยังมีบางคนที่รับจ้างมัดฟ่อนข้าวเป็นอาชีพเสริม ทั้งรับเหมา และรับจ้างรายวัน วันละ 300 บาท” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประหยัดเงินคือ การแลกเปลี่ยนแรงงาน โดยช่วยเจ้าหนึ่งเสร็จก็ไปช่วยอีกเจ้าหนึ่ง ก่อนขนไปรวมกันเป็นกองที่ลาน เพื่อเตรียมสีเป็นข้าวเปลือกบรรจุใส่ถุงนำไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง โดยแบ่งข้าวเปลือกเป็น 2 ส่วน ทั้งแบ่งขาย ส่วนหนึ่งเก็บไว้กิน ช่วงนี้เห็นว่าราคาไม่ดีนักก็จะกักตุนไว้ก่อน






กำลังโหลดความคิดเห็น