ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และชมรมคนรักในหลวงจังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “เกี่ยวข้าวเพื่อพ่อ” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำนักศึกษาทั้งไทย และต่างชาติ พร้อมสมาชิกชมรมร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าวตามแบบวิถีชาวเหนือดั้งเดิม ในแปลงนาที่ร่วมกันปลูกตั้งแต่ “วันแม่” 12 สิงหาคม แบ่งเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์วิจัย และแจกจ่ายชาวนานำไปเพาะปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ และคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) เช่น คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นต้น
พร้อมด้วยสมาชิกชมรมคนรักในหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติ ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว ในกิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามโครงการเรียนรู้การเป็นเกษตรที่ดีกับวัฒนธรรมท้องถิ่น “เกี่ยวข้าวเพื่อพ่อ”
โดยมี รศ. ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ธีระ วิสิทธิ์พานิช ประธานชมรมคนรักในหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเปิดกิจกรรมในครั้งนี้
ทั้งนี้ กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมอนุรักษ์ และเรียนรู้ประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าวของภาคเหนือ โดยทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวที่ปลูกบนพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ของศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มช. ตามกิจกรรม “ปลูกข้าววันแม่ เกี่ยวข้าววันพ่อ” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา แม่ของแผ่นดิน 12 สิงหาคม 2559 ที่คณะเกษตรศาสตร์ มช. และชมรมคนรักในหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ส.ค.59 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง และข้าวก่ำดอยสะเก็ด
การลงแขกเกี่ยวข้าวตามกิจกรรม “เกี่ยวข้าวเพื่อพ่อ” ในครั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการปฏิบัติตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่การทำพิธีเรียกขวัญลงแขกเกี่ยวข้าว ก่อนที่จะทำการเกี่ยวข้าว มัดข้าว และนวดข้าว จนกระทั่งเสร็จสิ้น ซึ่งเมล็ดข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในครั้งนี้จะมีผู้ที่สนใจรับซื้อไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ได้มีการแบ่งส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ และแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป