บุรีรัมย์ - เจ้าของรถเกี่ยวนวดข้าวและชาวนาบุรีรัมย์ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะประกาศควบคุมราคารถเกี่ยวนวดข้าว หวั่นเกิดปัญหารถเกี่ยวขาดแคลนยิ่งซ้ำเติมชาวนา เหตุปัจจุบันรถเกี่ยวไม่เพียงพอเนื่องจากผลผลิตข้าวออกพร้อมกันและยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกจำนวนมาก พร้อมชี้รัฐควรเร่งแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำมากกว่ามาควบคุมรถเกี่ยว
วันนี้ (17 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าของรถเกี่ยวนวดข้าวและชาวนา จ.บุรีรัมย์ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่รัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศควบคุมราคาค่าเกี่ยวนวดข้าวตามที่มีกระแสข่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาทำให้รถเกี่ยวนวดข้าวขาดแคลน เนื่องจากขณะนี้รถเกี่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่กว่า 1,200 คัน รวมถึงรถเกี่ยวที่มาจากนอกพื้นที่อีกนับ 100 คันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาที่จะเก็บเกี่ยว เนื่องจากผลผลิตข้าวแก่สุกพร้อมกันยังรอการเก็บเกี่ยวอีกเป็นจำนวนมาก
หากภาครัฐมาออกประกาศควบคุมราคาค่าจ้างเกี่ยวต่ำกว่าไร่ละ 600 บาทรถเกี่ยวจะหนีออกนอกพื้นที่ ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมชาวนาเพิ่มขึ้นไปอีก
จึงอยากวอนให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดังกล่าว แต่หากเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ โดยการพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาทมากกว่าที่จะไปควบคุมราคารถเกี่ยว เพราะขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเหลือเพียงตันละ 5-6 พันบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันอัตราค่าจ้างรถเกี่ยวนวดข้าวในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์จะคิดค่าจ้างเกี่ยวอยู่ประมาณ 550-600 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นราคาที่ชาวนาและเจ้าของรถเกี่ยวพอใจทั้งสองฝ่าย
นายทองดี คดรัมย์ อายุ 68 ปี ชาวบ้านบ้านไผ่น้อย ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้ได้เช่าพื้นที่ทำนาทั้งหมด 12 ไร่ ต้องจ่ายค่าเช่าที่นาเป็นข้าวเปลือกไร่ละ 1 กระสอบ ส่วนต้นทุนทำนาปีนี้อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท หากได้ราคาต่ำคงไม่ขายแต่จะเก็บไว้บริโภคและทำพันธุ์
ส่วนกรณีที่รัฐจะออกประกาศควบคุมค่าจ้างรถเกี่ยวนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด หากควบคุมราคารถเกี่ยวต่ำกว่า 600 บาทเจ้าของรถอยู่ไม่ได้จะหนีออกนอกพื้นที่ จะทำให้รถเกี่ยวขาดแคลนยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมชาวนาไม่มีรถเกี่ยว จึงอยากให้รัฐหาวิธีพยุงราคาข้าวมากกว่าจะควบคุมรถเกี่ยว
ด้าน นายสุวรรณ คำสะอาด อายุ 59 ปี เจ้าของรถเกี่ยวจาก จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่รัฐจะประกาศคุมค่าจ้างเก็บเกี่ยวข้าว เพราะหากประกาศคุมราคาต่ำกว่าไร่ละ 600 บาทจะอยู่ไม่ได้เพราะปัจจุบันต้องแบกภาระทั้งค่าจ้างขนเกี่ยว ค่านายหน้า ค่าจ้างคนขับ ค่าน้ำมัน และค่าซ่อมรถอยู่แล้ว หากเฉลี่ยจะเหลือเงินไร่ละไม่ถึง 200 บาท ทั้งยังมีอุปสรรคสภาพพื้นที่เกี่ยวด้วย
แต่หากรัฐมีการประกาศคุมค่าจ้างเกี่ยวต่ำกว่าไร่ละ 600 บาทจริง สุดท้ายผลกระทบจะตกอยู่แก่ชาวนาเพราะคงไม่มีใครกล้ารับจ้างเกี่ยวเพราะไม่คุ้มทุน จึงอยากให้ทบทวนมาตรการดังกล่าว