MGR Online - รองปลัด ยธ.เผยกรณีนายกฯ สั่งห้ามนำผู้ต้องหาแถลงข่าว เหตุสื่อต่างประเทศนำคดีหนุ่มสาวออรัลเซ็กซ์บนเกาะพีพีไปขยายความว่ามีการละเมิดสิทธิ เผย สตช.เคยสั่งห้ามนำผู้ต้องหาแถลงข่าวตั้งแต่ปี 48 และเคยห้ามนักข่าวถ่ายภาพ แต่ไม่สามารถบังคับได้จริง
วันนี้ (5 ก.ย.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งไม่ให้นำตัวผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าวแต่สามารถแถลงผลการดำเนินงานได้ว่า สืบเนื่องจากต้นเดือน ก.ค. 59 ที่ผ่านมา เกิดเหตุคู่รักหนุ่มสาวชาวต่างชาติทำออรัลเซ็กซ์บนเกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งผู้หญิงเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก่อนที่ เดอะ มิรเรอร์ สื่อต่างประเทศได้เอาไปตีแพร่ขยายความว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อปี 2548 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีคำสั่งที่ 855/2548 ไม่ให้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวยกเว้นแต่เป็นประโยชน์ และต้องรายงานผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ในปี 2550 สตช.มีคำสั่ง 465/2550 ไม่ให้สื่อมวลชนมีการบันทึกภาพผู้ต้องหาแต่ก็ไม่สามารถใช้บังคับได้จริง จึงได้มีการเรียกร้องมายังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อช่วยพิจารณาถึงผลเสียต่อครอบครัวผู้กระทำผิดด้วย
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า หากมีการส่งสำนวนผู้ต้องหาให้อัยการแต่ไม่สั่งฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง หรือ ถ้าผิดจริงถูกตัดสินจำคุกตามคำพิพากษาแล้วออกมาจากเรือนจำแต่ยังมีคนจำหน้าเขาได้อาจทำให้คนนั้นๆ ไม่มีที่ยืนในสังคม และส่งผลให้กลับไปทำร้ายสังคมอีกครั้ง รวมทั้งคนในครอบครัวซึ่งอาจเป็นพ่อแม่หรือลูกจะไม่กล้าออกไปพบปะกับใครเพราะกลัวโดนตำหนิ นับเป็นผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เตรียมทำหนังสือให้ กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกแนวปฏิบัติร่วมกันเกี่ยวกับการแถลงข่าว แต่หากมีระเบียบออกมาแล้วยังฝ่าฝืนเกิดขึ้นจะต้องตรวจสอบหาสาเหตุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าไม่นำคนกระทำผิดมาแถลงข่าวจะทำให้ไม่เกิดการเกรงกลัวหรือไม่ นายธวัชชัยกล่าวว่า ผลวิจัยจากต่างประเทศมีข้อมูลว่าในประเทศที่มีโทษประหารชีวิต ผู้กระทำผิดไม่ได้ลดลงและไม่เกรงกลัว รวมทั้งถ้าการแถลงข่าวทุกคดีอาจทำให้กลายเป็นเรื่องปกติคุ้นเคยในสังคมนั้นๆ ก็ได้