นครปฐม - อธิบดีกรมปศุสัตว์ นำทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่นครปฐม ตรวจโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มโคขุนในพื้นที่เขตอำเภอเมือง ตรวจปัสสาวะวัว พบมีสารต้องห้ามในปัสสาวะ พร้อมอายัดวัวเกือบ 2 พันตัว และสารต้องห้ามอีกกว่า 5.6 ตัว
วันนี้ (17 พ.ย.) นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นำชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองพันทหารม้าที่ 19 จังหวัดกาญจนบุรี เข้าตรวจค้นโรงงานผลิตอาหารสัต ว์และฟาร์มโคขุนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม หลังจากสืบทราบว่า มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์ และใช้เลี้ยงโคขุนหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารให้ปลอดภัย (Food Safety) แก่ผู้บริโภค โดยกรมปศุสัตว์ ได้ตรวจสอบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านปศุสัตว์ เพื่อปกป้องให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ในวันนี้ได้เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่สงสัยว่ามีการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จำนวน 1 แห่ง ที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ เลขที่ 49 หมู่ 2 ตำบลสามควายเผือก อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้ทำการตรวจปัสสาวะวัวที่เลี้ยงในพื้นที่ถัดไป และพบว่า มีสารต้องห้ามในปัสสาวะ และอายัดอาหารสัตว์ และสารต้องสงสัยนำไปตรวจสอบ เพื่อส่งดำเนินคดีประมาณ 5,600 กิโลกรัม โดยโรงงานผลิตอาหารสัตว์ดังกล่าวเคยโดนจับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับการใช้สารเร่งเนื้อแดงมาแล้วเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะเดิมอีก ซึ่งกรมปศุสัตว์จะประสานไปยังพนักงานสอบสวน และอัยการในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ ชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ยังได้เข้าตรวจสอบฟาร์มโคขุนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดหวัดนครปฐม อีกจำนวน 3 ฟาร์ม และเก็บตัวอย่างปัสสาวะโคขุนดังกล่าวตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงโดยชุดทดสอบภาคสนาม เบื้องต้น ได้อายัดโคขุนทั้งหมด จำนวน.1,804 ตัว เพื่อรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และดำเนินคดีต่อไป โดยการลักลอบผลิต หรือใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์มีโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อาหารสัตว์ที่ผสมสารเร่งเนื้อแดง หรือสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และโคขุนบางกลุ่มนำไปเลี้ยงสัตว์เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดปริมาณไขมันในเนื้อสัตว์ ตลอดจนเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ เร่งการเจริญเติบโตและทำให้เนื้อสัตว์สีแดงน่าบริโภค แต่เมื่อผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนปวดศีรษะ ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตลอดจนหญิงมีครรภ์จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์
ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้จัดชุดเฉพาะกิจเข้าตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งในสุกร และในโคเนื้อ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ทั่วประเทศ อีกทั้งมีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาสารเร่งเนื้อแดง หากพบการผลิต ขาย หรือใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์จะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด