xs
xsm
sm
md
lg

วัฏจักรราคาหมูเวียนมา...ต้องแก้อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปีนี้อุตสาหกรรมหมูทั้งโลกปั่นป่วน นับตั้งแต่ผู้ผลิตและส่งออกหมูรายใหญ่ของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ราคาหมูดิ่งเหว โดยเมื่อย้อนดูตัวเลขราคาหมูขุน 3 ปีติดต่อกัน ในปี 2557 2558 และ 2559 จะเห็นว่า ราคาหมูเฉลี่ยลดลงมาตลอดอยู่ที่ 60 40 และ 35 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ ซึ่งปีนี้ราคาหมูสหรัฐฯ ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และยังมีแนวโน้มราคาลดลงอีก เนื่องจากปริมาณสุกรขุนที่เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกันยายน 2559 มีปริมาณสุกรขุนที่เลี้ยงถึง 68.4 ล้านตัว มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ 62.9 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณที่เลี้ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3

ไม่ต่างจากประเทศไทยที่ราคาหมูขุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยราคาหมูขุนหน้าฟาร์ม เฉลี่ยในปี 2557 อยู่ที่ 75 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2558 อยู่ที่ 65 บาทต่อกิโลกรัม และช่วงปลายปี 2559 ราคาหมูเป็นกลับต่ำลงอีกอยู่ที่ 58-64 บาท สวนทางต่อต้นทุนการผลิตที่สูงถึง 60-64 บาทแล้ว ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องราคาหมูนี้เมื่อมองดูข้อมูลในรอบหลายสิบปี จะพบว่า การขึ้นลงของราคาเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งในวงการเรียกกันว่า “วัฏจักรหมู” หรือ “วงจรราคาหมู” จนมีสูตรที่ผู้เลี้ยงหมูรู้กันดีคือ “ดี 3 เสีย 1” หมายถึงเลี้ยงหมูได้ราคาดี 3-4 ปี แต่มีช่วงราคาตกต่ำ 1 ปี เนื่องจากในช่วงที่หมูราคาดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มักจะขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพราะคิดว่าตอนที่หมูราคาดีก็ต้องรีบผลิตจะได้ขายได้มาก และมีกำไรมากๆ แต่เมื่อทุกคนคิดเหมือนกันแบบนี้ย่อมทำให้ปริมาณผลผลิตหมูของประเทศสูงขึ้น จนเมื่อปริมาณหมูมากเกินความต้องการบริโภค ก็เข้าสู่ภาวะ “หมูล้นตลาด” ราคาขายจึงลดลงตามไปด้วย เหตุการณ์เช่นนี้พบในทุกสินค้า และเกิดขึ้นทั่วโลกตามภาวะกลไกตลาดนั่นเอง

สำหรับปีนี้อุตสาหกรรมหมูไทยก็พบกับวัฏจักรหมูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกครั้ง โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์การผลิตหมูขุนทั้งประเทศอยู่ที่ 17 ล้านตัวต่อปี หรือผลิตได้เฉลี่ยวันละ 46,575 ตัว ขณะที่การบริโภคภายในประเทศมีเพียง 40,000-43,000 ตัวต่อวัน ส่วนการส่งออกหมูเป็นมีประมาณ 2,000 ตัวต่อวัน ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว และพม่า

ด้านการส่งเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่นก็ยังมีอยู่แต่ปริมาณไม่มากนัก เท่ากับทุกวันนี้มีหมูส่วนเกินอยู่ถึง 1,500-4,500 ตัวต่อวัน เป็นเหตุให้ราคาหมูตกต่ำลง และเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนนี้ก็มีแนวโน้มที่ราคาจะลดลงอีกเนื่องจากปริมาณหมูขุนที่ผลิตได้นั้นยังมาก กำลังการผลิตของเกษตรกร และผู้ประกอบการไม่ได้ลดลง ขณะที่การบริโภคก็ยังไม่กระเตื้อง

แล้วหนทางแก้ปัญหาคืออะไร? ...เรื่องนี้ต้องมองที่ประเด็นการบริโภคในประเทศที่ยังมีค่อนข้างต่ำเพียง 14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้น หากกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มขึ้นได้ก็อาจจะช่วยให้ปัญหาทุเลาลงได้บ้าง แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันการส่งออกไปยังประเทศที่มีอัตราการบริโภคเนื้อหมูสูง เช่น จีน ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะเมื่อวิเคราะห์ที่ราคาหมูเป็นในจีนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2557 2558 และ 2559 ราคาหมูเป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 70 90 และ 100 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อไป สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณหมูที่ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคของชาวจีน ทำให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงหมูก็ต้องวางแผนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบไม่แห่เลี้ยงหมูตามกันเพียงเพราะมีราคาเป็นแรงจูงใจ พร้อมปรับตัว และรับมือต่อภาวะขึ้นลงของราคาหมู และมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมต้นทุนการผลิต เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในธุรกิจนี้อย่างมั่นคงไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ที่สำคัญผู้ประกอบการควรแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตเพื่อป้องกันภาวะหมูล้นตลาด

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่มีนโยบายเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ก็ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับกระตุ้นการบริโภคเนื้อหมูในประเทศให้สูงขึ้น เพราะช่วงนี้ถือเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่ทั้งได้รับประทานเนื้อหมูแหล่งโปรตีนคุณภาพดี และยังเป็นการช่วยเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

จะว่าไปแล้วโอกาสของหมูไทยยังมีอยู่ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ แต่จะไปถึงจุดหมายหรือไม่ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือ และแรงหนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และควรทำแผนระยะยาวร่วมกันเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมหมูเกิดความยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น