xs
xsm
sm
md
lg

ปีเดียวเห็นผล! พยัคฆ์กาแฟ ฝ่าดงข้าวโพด-รักษ์ต้นน้ำแม่แจ่มตามรอย “พ่อ”(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - พิสูจน์แล้ว ปีเดียวเห็นผล “วิสาหกิจพยัคฆ์กาแฟ” อดีตครูจับมือชาวบ้านใช้ “พระบรมราโชวาท” นำทาง ฝ่ากระแสข้าวโพด ปลูกกาแฟฟื้นป่าต้นน้ำแม่แจ่ม ส่งผลผลิตกาแฟอินทรีย์ป้อนยี่ห้อดังต่างประเทศได้ปีละนับล้านบาทแล้ว บอกปีนี้เดินหน้าตั้งโรงคั่วเอง


วันนี้ (15 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางไร่ข้าวโพดสุดลูกหู ลูกตา และถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดอยหัวโล้น ในหลายพื้นที่ รวมถึงท้องที่ต้นน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ แต่วันนี้ยอดดอยบางส่วนเขต 6 ตำบล คือ ต.กองแขก ต.ท่าผา ต.ช่างเคิ่ง ต.ปางหินฝน ต.แม่นาจอน ต.แม่ศึก เกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นผืนป่ากาแฟส่งออกที่นอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วยังคืนผืนป่าต้นน้ำด้วย

ณ สำนักงานวิสาหกิจพยัคฆ์คอฟฟี่ (Payak Coffee) ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่นำพระบรมราโชวาท 4 ธ.ค. 2548 จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ใส่เข้ากรอบติดไว้ นายกฤษฎิ์ พยัคกาฬ ผู้ก่อตั้งและรองประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า ได้ยึดมั่นพระบรมราโชวาทนี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ก่อตั้งวิสาหกิจผู้ปลูกกาแฟ 6 ตำบล รักษาป่าต้นน้ำ สู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกลุ่มนายทุน ที่ทำลายป่าเป็นภูเขาหัวโล้นหลายแห่งจนสำเร็จ

นายกฤษฎิ์เล่าว่า อดีตเคยทำงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วลาออกมาสอนหนังสือให้โรงเรียนเอกชนในเชียงใหม่แห่งหนึ่ง พอมีครอบครัวก็ลาออกมาอยู่บ้าน เริ่มปลูกกาแฟที่ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้ 1 ปี มีพื้นที่ปลูกกาแฟของตัวเอง 3 ไร่ 1,200 ต้น

โดยที่ผ่านมา คนแม่แจ่มปลูกกาแฟกันทุกตำบล ผ่านทางโครงการพัฒนาชาวเขา ที่พระเจ้าอยู่หัว ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกตั้งแต่ปี 2524 ทดแทนการปลูกฝิ่น และพืชเสพติดต่าง ๆ แต่ผลผลิตไม่แน่นอน กระทั่งราวปี 2543 หรือ 16 ปีที่แล้ว กาแฟเกือบหมดดอยแม่แจ่ม กลายเป็นป่าข้าวโพดหมด ขณะที่การปลูกกาแฟ ตามแนวทางพระองค์ท่าน จะได้ป่า ได้ความชุ่มชื้น จึงเริ่มชักชวนเพื่อนบ้านรวมกลุ่มกันปลูกกาแฟ

โดยเริ่มจาก ต.กองแขก ที่พระองค์ท่าน นำกาแฟกล้าแรกเข้ามาที่นี้แล้ว และสมเด็จพระราชินีฯ ยังทรงทำเรื่องของป่าต้นน้ำ ที่บ้านโม่งหลวง ต.กองแขก ทั้งยังมีโครงการของศิลปาชีพ ผ้าทอมือของกระเหรี่ยง ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นในเรื่องของตำบลกองแขก เราขยายผลไปอีก 5 ตำบลคือ ต.ท่าผา ต.ช่างเคิ่ง ต.ปางหินฝน ต.แม่นาจอน และ ต.แม่ศึก มีสมาชิกเครือข่ายแล้ว 156 ครัวเรือน

นายกฤษฎิ์บอกว่า ปรัชญาของวิสาหกิจพยัคฆ์กาแฟ คือ การดูแลธรรมชาติ และให้คนอยู่กับป่าได้ ซึ่งกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอยู่กับป่าได้ ตามแนวทางบ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่ให้คนอยู่กับได้อย่างยั่งยืน ไม่ขับไล่เขาออกไปจากป่า

ขณะเดียวกัน ในการทำงานกับชุมชน เราจะบอกชาวบ้านว่า พระเจ้าแผ่นดิน-พระราชินี ท่านยู่กรุงเทพฯ แต่ที่นี้เป็นต้นลำน้ำแม่แจ่ม น้ำจากบ้านเราที่มีแต่ไร่ข้าวโพด ต้นไม้ก็หมดไป น้ำไหลลงไปที่น้ำแม่แจ่ม ลงน้ำแม่ปิง แล้วก็ไหลไปรวมกับแม่น้ำวัง ยม น่าน เป็นเจ้าพระยา ที่หล่อเลี้ยงคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด ดังนั้นถ้าเราไม่รักษาป่าต้นน้ำไว้ มันไม่ได้หมายความว่า เราจะมีปัญหาคนเดียว แต่คนทั้งประเทศก็ได้รับผลกระทบด้วย คนที่อยู่กรุงเทพฯ ได้กินน้ำบ้านเรา พระองค์ท่านก็ได้กินน้ำบ้านเรา ทำไมเราไม่รักษาป่าต้นน้ำไว้ให้พระองค์ ตลอดจนผู้คนสองฝั่งน้ำ ได้ใช้น้ำที่บริสุทธิ์ไม่มีสารเคมีเจอปน

“เราคิดว่า ชาวบ้านเขาเป็นเกษตรกร ถ้าได้รับโอกาสรวมกลุ่ม ก็จะมีอำนาจต่อรอง มีศักดิ์ศรีในความเป็นคน กำหนดผลผลิตของตนเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่กำหนดผลผลิตตามพ่อค้า แล้วมาโดนกดราคา ป่าก็จะอยู่ เพราะถ้าขายกาแฟได้ราคาป่าก็จะฟื้นได้อัตโนมัติ เพราะกาแฟ เป็นพืชที่ไม่ต้องไปบอกให้ชาวบ้านทำแนวกันไฟให้เปลืองงบประมาณของรัฐ เขาปลูกกาแฟในป่าต้นน้ำ ชาวบ้านจะทำแนวกันไฟเอง ถ้าไฟเข้าไร่กาแฟเมื่อไหร่ กาแฟจะตาย คือจะรู้กันเองโดยอัตโนมัติ”

นายกฤษฎิ์กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาวิสาหกิจพยัคฆ์กาแฟ สามารถส่งผลผลิตป้อนกาแฟยี่ห้อดังในต่างประเทศแล้ว 3 ราย ทำรายได้กว่า 1 ล้านบาทแล้ว และในปีนี้ก็จะเริ่มระบบการออมเพื่อนำดูแลสมาชิกยามจำเป็น รวมทั้งลงทุนสร้างโรงคั่วกาแฟขึ้นเอง ขณะนี้ได้เงินออมปีละ 60,000 บาทแล้ว

“วันนี้สมาชิกของเราทุกคนอยู่ได้และจะน้อมนำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไป หากผู้ที่สนใจจะสั่งซื้อกาแฟสามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 08-5621-5515 หรือเฟซบุ๊ก Payak Coffee ได้”





























กำลังโหลดความคิดเห็น