xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นหึ่ง! สตง.บุกตรวจทั้งเขื่อนแควน้อย-บึงราชนก มีส่อทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ สตง.นำทีมเจ้าหน้าที่บุกตรวจ 2 โครงการใหญ่พิษณุโลก ทั้งหาดทรายเทียม/จุดชมวิวเขื่อนแควน้อยฯ-บึงราชการ ส่อทุจริต บอกมีอย่างที่ไหนของบขุดสระกลางบึงแล้วปล่อยทิ้งร้าง ขณะที่โครงการสร้างจุดท่องเที่ยวเขื่อนฯ ปีเดียวก่อทัศนียภาพอุจาดเฉย

วันนี้ (4 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อตรวจโครงการรัฐที่ส่อไปในทางทุจริต 2 จุดหลักในระหว่าง 3-4 พ.ย.นี้ คือ บึงราชนก ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก โดยพบว่า บึงราชนกกำลังกลายเป็นแหล่งละเลงงบประมาณของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง มีการขอใช้พื้นที่ภายในบึงสาธารณะ รวมทั้งนำงบประมาณไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างแล้วปล่อยทิ้งร้างจนแทบไม่เหลือสภาพแหล่งเก็บกักน้ำ

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า โครงการในบึงราชนกที่ส่อไปในทางทุรจิต คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งนำงบจำนวน 10 ล้านบาท และของบจากกรมชลประทาน เพิ่มเติมอีก 15 ล้านบาท รวมเป็นงบ 25 ล้านบาท เพื่อขุดสระใหญ่ภายในบึงราชนก ขนาดความกว้าง 120 เมตร ยาว 2,000 เมตร เอาไว้แข่งเจ็ตสกีเพียงครั้งเดียว

“ถือว่าประหลาดและมหัศจรรย์สุดๆ ก็คือ ขุดสระน้ำทั้งๆ ที่อยู่ภายในบึงสาธารณะ ลักษณะงานคือถมคันดินทั้งสองฝั่ง วันนี้เชื่อว่าคนพิษณุโลกไม่รู้ว่ามีสนามกีฬาเจ็ตสกีอยู่ภายในบึกราชนก สำหรับสภาพบึงราชนกยังถูกชาวบ้านบุกรุก เลี้ยงควาย เลี้ยงเป็ด ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า”

ล่าสุดสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่ามีหน่วยงานราชการขอใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้ฟื้นฟูบึงราชนก กลับนำงบไปขุดลอก-ถมเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 หน่วยงานรัฐ เช่น อบจ.ทำหอประชุม 20 ล้านบาท รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหา ซึ่งทราบว่าได้มีการมอบหมายให้รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาดำเนินการ

ส่วนที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่มีการดำเนินการส่อไปในทางทุจริตเช่นกัน คือ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (ลานอเนกประสงค์) ของสำนักก่อสร้าง 2 (โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน) และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก

จุดแรก คือ ลานอเนกประสงค์ จุดชมวิวหน้าเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พบว่ามีการนำเงินงบประมาณจำนวน 5 แสนบาท ซื้อหินแกรนิตขนาดใหญ่นำไปติดเป็นผนัง เมื่อปี 55 และส่งมอบปี 56 กระทั่งปี 57 หินแกรนิต ได้หลุดร่อนเสียหายตลอดแถว ส่งผลให้เกิดทัศนียภาพอุจาด ไม่ชวนมอง จนมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมบริเวณหาดทรายเทียมพบเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และร้องไปยัง สตง.

จุดที่ 2 คือ หาดทรายเทียมหน้าเขื่อนแควน้อย พบว่ามีการนำเงินงบประมาณจำนวนมากไปใช้ แต่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ หรือไม่คุ้มค่ากับความเป็นแหล่งท่องเที่ยวเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน คือ หาดทรายเทียม จ้างเหมาตามสัญญาจ้างเลขที่ ขค.จ.15/2558 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 58 โดยใช้วิธีจัดการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ มี หจก.ชื่อย่อ “ช.” เป็นผู้ดำเนินการ กำหนดรายละเอียดค่างาน เฉพาะทรายจำนวน 3 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าหิน ลูกรัง และคันปูน

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า กรณีของเขื่อนแควน้อยฯ ทาง สตง.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวที่พบเห็น และนำเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ จึงต้องมาตรวจสอบพบว่า หินแกรนิตหนักก้อนละ 5 กิโลกรัม ปัญหาคือ การออกแบบไม่ดี ไม่มีอะไรยึดติด ทั้งๆ ที่หินแกรนิตหนักมาก ควรใช้ช่างมีฝีมือ กระทั่งวัสดุเสื่อมสภาพ หลุดร่อนอย่างที่เห็นทุกวันนี้

สำหรับหาดทรายเทียม สร้างเพื่อเสริมภูมิทัศน์เขื่อนแควน้อยฯ แต่กลับใช้งบสูงถึง 7.3 ล้านบาท ประกอบด้วย คันคอนกรีต 6 ระดับ ถมดินและเททรายตอนบนสุด แต่ ณ วันนี้ชาวบ้านถามว่าทรายหายไปไหน เพราะทรายที่ถมไว้มูลค่า 3 ล้านบาท ปัจจุบันน้ำที่เก็บกักก็จุเต็มเขื่อน ท่วมถึงหาดทรายเทียม จนมีหญ้า วัชพืชขึ้นรก และไม่มีใครดูแล







กำลังโหลดความคิดเห็น