xs
xsm
sm
md
lg

“ธนารักษ์” สั่งยุติรื้อถอนบ้านไม้ในพื้นที่เรือนจำเก่านครปฐมยกให้วัด หลังพบพิรุธไม่โปร่งใส่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - ภาคประชาชนชาวนครปฐม รวมตัวเข้าตรวจสอบ และคัดค้านการรื้อถอนบ้านไม้ 5 หลัง ในพื้นที่เรือนจำเก่านครปฐม หนึ่งในนั้นมีบ้านพัก ผบ.เรือนจำถูกรื้อถอนด้วย เพื่อเตรียมส่งมอบวัดดังในสมุทรสาคร โดยมีเอกชนเข้ามาบอกให้วัดดำเนินการทำเรี่องขอก่อนจะตอบแทน 1 แสนบาท ล่าสุด “ธนารักษ์” สั่งยุติการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และไม่ให้มีการนำไม้ออกนอกพื้นที่แล้ว พร้อมทั้งจะทำหนังสือไปยังจังหวัดเพื่อจัดประชุมพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.59 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มประชาชนทั้งจากกลุ่มรักปฐมนคร กลุ่มศรีทวารวดี และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าเรือนจำเก่า เรือนจำกลางนครปฐม อยู่ติดกับด้านทิศตะวันออกขององค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อขอเข้าตรวจสอบการรื้อถอนอาคา รและบ้านไม้เก่าจำนวนหลายหลัง หลังมีกระแสข่าวว่า เรือนไม้เก่า จำนวน 5 หลังดังกล่าว ทางกรมธนารักษ์ได้บริจาคให้แก่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าน่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับเรี่องดังกล่าว เพราะไม้เก่าที่ถูกรื้อได้เคยมีการทำหนังสือมอบให้แก่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย เพื่อจะนำไปสร้างเป็นอาคารของเสือป่า ซึ่งเป็นลูกเสือที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่วันนี้กลับถูกเปลี่ยนมือไปอย่างมีข้อสงสัยในการทำงานของหน่วยงานราชการ

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามเอกสารตามที่เรือนจำกลางนครปฐม ได้ทำเรื่องส่งมอบพื้นที่เรือนจำแห่งเก่าให้แก่สำนักงานธนารักษ์ พื้นที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ซึ่งพื้นที่แห่งนี้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอาคารทั้งหมด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมหารือ โดยที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนั้น ได้มีการเสนอขอรับบริจาคไม้เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างค่ายลูกเสือ ที่อำเภอสามพราน ซึ่งถือเป็นการพัฒนา และเป็นประโยชน์แก่ชาวจังหวัดนครปฐม

แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่ได้มีการประชุมกัน โดยทราบว่า ภายหลังที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครปฐม ได้รับมอบให้ดูแลพื้นที่เรือนจำแห่งนี้ ทางวัดโรงเข้วนาราม จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้เข้ามาติดต่อกับสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อขอบริจาคไม้ไปใช้ในการซ่อมแซม และบูรณะวัด แต่ข้อเท็จจริงกับพบว่า ในการเข้ามารื้อถอนไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากทางวัด แต่เป็นคนงานจากร้านรับซื้อไม้เก่าในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังทราบอีกว่า ทางร้านได้มีการจ่ายเงินให้แก่ทางวัด 100,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ส่อเค้าว่าจะมีการทุจริต และทางวัดไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไข โดยอยากให้มีการระงับเรื่องนี้ไว้พิจารณา และรอตรวจสอบอย่างละเอียด

นายสุวัฒน์ สุตจิตร์สมโภชน์ นายช่างสำรวจอาวุโส ผู้แทนจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครปฐม ได้กล่าวเบื้องต้นถึงเรื่องนี้ว่า ตนเพิ่งย้ายเข้ามารับหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมได้เพียง 4 เดือน โดยไม่ทราบว่ามีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากเห็นว่าทางวัดมีหนังสือขอความอนุเคราะห์มาที่สำนักงาน เพื่อจะนำไม้ไปใช้บูรณะอมแซมวัดเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่ว่ามีการให้เงินนั้นเรื่องนี้คงต้องรอตรวจสอบ โดยขั้นต้นจะทำการระงับการเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และไม่ให้มีการนำไม้ออกนอกพื้นที่ พร้อมกับจะทำหนังสือประสานไปยังจังหวัด เพื่อจัดประชุมพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง โดยจะเชิญประธานกลุ่มศรีทวารวดี และประชาชนเข้าร่วมรับฟังด้วย

นายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี ที่ปรึกษาและคณะกรรมการเครือข่ายมรดกทางวัฒนธรรมพื้นที่ 2 กรมศิลปากร กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นอยากให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม ได้เร่งตรวจสอบ และสั่งระงับการรื้อถอนและขนย้าย เพราะดูแล้วส่อเค้าว่าจะมีการทุจริต โดยเฉพาะการเร่งรื้อถอนบ้านพักผู้บัญชาการ ทั้งนี้ โดยอยากให้จังหวัดนำเรื่องนี้ไปประชุมพิจารณาอีกครั้งเพื่อชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น และต้องให้ประชาชนได้เข้าร่วมในการรับฟังด้วย

นายอภิชาต ขุนเทพ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม ก็ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย พร้อมบอกเล่าถึงความรู้สึกที่มีกับบ้านหลังนี้ โดยกล่าวว่า ตนมีความผูกพันกับบ้านหลังนี้มาก เนื่องจากขณะนั้น คุณพ่อ เป็นผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม โดยอาศัยอยู่บ้านหลังนี้มากว่า 10 ปี ในช่วงวัยเด็ก กระทั่งตนได้มารับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม ก็ได้กลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้อีกครั้ง จนเกษียณอายุราชการ ซึ่งเมื่อเห็นสภาพการรื้อถอนก็รู้สึกใจหาย และเสียดายภาพความทรงจำในวัยเด็กที่คุณพ่อได้เป็นผู้ต่อเติม และซ่อมแซมบ้านหลังนี้

สำหรับเรือนจำกลางจังหวัดนครปฐมแห่งนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ย้ายเมืองนครไชยศรี จาก ต.ท่านา มาที่ ต.พระปฐมเจดีย์ หรือตัวเมืองนครปฐมในปัจจุบัน โดยใช้แรงงานนักโทษจากมณฑลนครไชยศรี ในการสร้างเมือง ตัดถนนเข้าสู่ตัวเมืองนครปฐม ขุดคลอง พร้อมทั้งบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จฯ มาพบระหว่างธุดงค์ จึงมีพระราชดำรัสให้สร้างเรือนจำไว้ที่นี่ แล้วย้ายนักโทษจากมณฑลนครไชยศรีมา

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ใช้แรงงานนักโทษในการก่อตั้งพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งเรือนจำแห่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ช่วงสร้างบ้านสร้างเมืองของนครปฐม โดยเป็นเรือนจำในระบบแห่งแรกของสยามประเทศ มีพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก ซึ่งเรือนจำแห่งนี้อยู่ร่วมสมัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระปฐมเจดีย์ เพราะมีประวัติจัดตั้งไล่เลี่ยกัน โดยยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมาพบย่าเหล สุนัขที่อยู่ในเรือนจำกลางนครปฐม ก่อนจะทรงพระกรุณารับเป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่มีความกตัญญู กระทั่งมาถูกยิงตาย และพระองค์ได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ย่าเหล ไว้ที่พระราชวังสนามจันทร์ พร้อมมีการแสดงความเสียพระทัยไว้บนแผ่นโลหะด้วย

ทั้งนี้ สถานที่ดังกล่าวถูกเกี่ยวโยงเข้ากับการออกมาคัดค้านการย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ไม่ให้ย้ายยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นการรวมพลังของประชาชนจังหวัดนครปฐม และทั่วประเทศ จนกระทั่งอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้ออกมาชี้แจง และยืนยันว่าจะไม่มีการย้าย เมื่อปี 2558 จนเป็นข่าวใหญ่หลายวันบนสื่อ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวจะมีการย้ายพิพิธภัณฑสถานที่แห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จากในรั้วองค์พระปฐมเจดีย์มายังสถานที่ดังกล่าว แต่ก็มาเกิดประเด็นดังกล่าว ล่าสุด นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้สั่งให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนกรมธนารักษ์ เจ้าของพื้นที่ได้สั่งการยุติการบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น