xs
xsm
sm
md
lg

“สื่อนอก” ติดตามสภาพ “โรงงานแกะกุ้ง” ในไทย ชี้มีปรับปรุงแต่ไม่เต็มร้อย และคำสัญญาปฏิรูปก็ยังห่างเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>คนงานทำงานแกะกุ้งที่โรงงานของไทยยูเนียน ในจังหวัดสมุทรสาคร ในภาพถ่ายวันที่ 23 ส.ค. 2016  นี้  เอพีระบุว่า ผู้ส่งออกอาหารทะเลบางรายของไทยอย่างเช่น ไทยยูเนียน ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานในโรงงานอย่างจริงจัง มีการเปิดโรงงานแกะกุ้งขนาดใหญ่ สะอาดถูกสุขลักษณะ ว่างจ้างคนงานเรือนพันที่ได้รับค่าอาหารแลมีโอกาสในการรับโบนัส </i>
เอพี - สื่อนอกอย่างสำนักข่าวเอพีอ้างอิงคำสัมภาษณ์ของแรงงานพม่าหลายคน ระบุคำสัญญาในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์และการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ไทยให้ไว้กับนานาชาติเมื่อเกือบหนึ่งปีมาแล้วยังเลื่อนลอยไร้ความหมาย อย่างไรก็ดี แรงงานพม่าอีกหลายคนที่ยังอยู่ในไทยยืนยันว่าสภาพการทำงานดีขึ้นกว่าในอดีตมาก

สำนักข่าวเอพีพบว่า แม้บริษัทบางแห่งของไทยที่ส่งออกกุ้งไปอเมริกาเสนองานที่ดีขึ้นในโรงงานของตนเองแก่แรงงานที่ตกค้าง แต่อีกหลายแห่งยังคงใช้คนกลางที่ว่าจ้างแรงงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ในที่ลับตาและมีการ์ดควบคุมดูแลเข้มงวด

ที่สำคัญเจ้าของโรงงานมักละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม แรงงาน หรือความปลอดภัย โดยจากโรงงานที่ถูกตรวจสอบทั้งหมด 109 แห่งในปีนี้มีถึง 75% ที่ละเมิดกฎหมาย และ 24 แห่งถูกสั่งปิด

รายงานการละเมิดกฎหมายในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีของไทย ที่จัดทำโดยกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสื่อ ทำให้นานาชาติกดดันไทยให้แก้ปัญหานี้

ปีที่แล้วเอพีรายงานข่าวการใช้แรงงานทาสที่ “กิ๊ก พีลลิ่ง” ซึ่งเป็นโรงงานแกะกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่คนงานกว่า 100 คนถูกกักขังและบังคับให้ทำงานวันละ 16 ชั่วโมงในการดึงไส้ แกะหัวและหางกุ้งออกก่อนส่งเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของเชนซูเปอร์มาร์เกตและบริษัทใหญ่ของอเมริกา เช่น เรด ล็อบสเตอร์, โฮล ฟูดส์ และวอล-มาร์ท
<i>ภาพที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2016 เป็นภาพของอดีตคนงานแกะกุ้ง ทิน โย วิน (ขวา) นั่งอยู่กับ มิ ซาน ภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ของเขา ระหว่างให้สัมภาษณ์เอพีในจังหวัดปทุมธานี  ทิน โย วิน เป็นผู้ที่หลบหนีจากโรงงานทาสไปแจ้งตำรวจ จนนำไปสู่การช่วยเหลือแรงงานคนอื่นๆ อีกกว่าร้อยคนรวมทั้งภรรยาของเขาด้วย  อย่างไรก็ดี หลังจากถูกควบคุมตัวเกือบ 1 ปีในสถานที่ของทางการไทย สามีภรรยาคู่นี้ก็ถูกเนรเทศกลับไปพม่า โดยเจ้าหน้าที่ไทยบอกว่า เนื่องจากทั้งคู่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ทีแรก </i>
ทิน โย วิน หนึ่งในแรงงานในโรงงานดังกล่าว ซึ่งเป็นคนที่หนีออกไปได้และแจ้งตำรวจจนนำไปสู่การบุกช่วยเหลือแรงงานอื่นๆ ที่รวมถึงภรรยาของเขาเองนั้น ถูกส่งตัวกลับพม่าเมื่อต้นเดือนหลังจากอยู่ในสถานพักพิงของรัฐบาลไทยนานเกือบปี

ทั้งนี้ ทางการไทยเคยประกาศว่า เหยื่อและพยานในการลักลอบค้ามนุษย์สามารถพำนักและทำงานในไทยต่อไปอีกหนึ่งปีระหว่างการสอบสวน ปีนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศชมเชยมาตรการปฏิรูปของไทยและถอดชื่อออกจากบัญชีดำประเทศลักลอบค้ามนุษย์

มาตรการปฏิรูปดังกล่าวที่ระบุในเอกสารครอบคลุมการจ่ายเงินเพื่อเป็นสินน้ำใจแก่คนที่เปิดโปงการกระทำผิดอย่างวิน และจ่ายค่าชดเชย ให้ความรู้ การจ้างงาน และความช่วยเหลืออื่นๆ แก่เหยื่อ

ทว่า วินและภรรยาเล่าว่าพวกเขาไม่ได้รับเงินชดเชยหรือความช่วยเหลือใดๆ มิหนำซ้ำบางมื้อบางคราวยังต้องอดอาหารและได้รับการปฏิบัติราวไม่ใช่คนระหว่างอยู่ในศูนย์พักพิงของรัฐบาลไทย

ทางการไทยแถลงไขเรื่องนี้ว่า แม้สองสามีภรรยาชาวพม่าเป็นเหยื่อการค้าทาสสมัยใหม่ แต่ถือว่ากระทำผิดตั้งแต่ต้นจากการลักลอบเข้าเมือง เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทยสำทับว่า ทั้งคู่ไม่เคยร้องขอค่าชดเชย และถูกส่งตัวกลับพม่าตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า

พ.ต.อ.ประเสริฐ ศิริพรรณาภิรัตน์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า มีผู้ถูกกล่าวหาจากคดีของวิน 5 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าของโรงงาน และทั้ง 5 อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัว

ปีที่ผ่านมา หลังจากเผชิญกับการถูกคว่ำบาตรสืบเนื่องจากการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อแรงงาน กลุ่มกิจการอาหารทะเลรายใหญ่และบริษัทผู้ตรวจสอบให้การรับรองของไทย ตัดสินใจปกป้องแรงงานด้วยการย้ายแรงงานทั้งหมดไปทำงานภายในบริษัท และห้ามการเอาต์ซอร์สกระบวนการเตรียมการเพื่อแปรรูปกุ้งให้ผู้ประกอบการภายนอก อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานเตรียมการเพื่อการแปรรูปกุ้งเปิดดำเนินการอยู่นับสิบราย บางแห่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ บางแห่งดำเนินการในโรงรถที่มีขนาดใหญ่หน่อยเท่านั้น และตัวแทนแรงงานระบุว่า มีการกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการล่วงละเมิดแรงงานน้อยมาก

เมื่อไม่นานมานี้ เอพีเดินทางไปสำรวจโรงงานกุ้งหลายแห่งในสมุทรสาครและพบคนงานแกะกุ้งด้วยมือเปล่าอยู่ตามริมถนนในย่านที่อยู่อาศัยหรือหลังกำแพง
<i>คนงานแกะกุ้งในบริษัทบุญชัย ซีฟู้ด จังหวัดสมุทรสาคร ในภาพถ่ายเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2016 เอพีอ้างคำพูดของกรรมการบริษัทแห่งนี้ที่กล่าวว่า เวลานี้คนงานได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน คือวันละ 300 บาท </i>
ทวีศักดิ์ สุรเลิศรังสรรค์ กรรมการของบริษัทบุญชัย ซีฟู้ด ยืนยันว่า โรงงานของเขาปฏิบัติตามกฎหมาย 100%

เอกสารต่างๆ ที่บุญชัย ซีฟู้ดระบุว่าโรงงานแห่งนี้แปรรูปกุ้งส่งให้บริษัทเมย์ โอ ฟู้ด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการส่งออกอาหารทะเลของไทยไปยังอเมริกา

ถึงแม้การดำเนินงานของบุญชัย ซีฟู้ด ได้รับการรับรองจากทางรัฐบาล แต่อุตสาหกรรมนี้ได้เคยให้สัญญาไว้ว่าจะยกเลิกคนกลาง โดยที่กุ้งของเมย์ โอ ฟู้ด ติดใบรับรองอุตสาหกรรมระดับโลกที่ระบุว่า การปอกและแกะหัวกุ้งออกดำเนินการในโรงงานที่ทางโรงงานแปรรูปเป็นเจ้าของและควบคุมโดยสมบูรณ์เท่านั้น

เมย์ โอ ยังเป็นสมาชิกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ให้คำมั่นในการขจัดคนกลาง ในกระบวนการเตรียมการก่อนการแปรรูป

แรกทีเดียวนั้น เมย์ โอ และเจ้าหน้าที่ของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยยืนยันว่า การแกะกุ้งทั้งหมดดำเนินการภายในโรงงานของบริษัท ก่อนจะยอมรับว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เผยว่า โรงงานของเมย์ โอเล็กเกินกว่าจะรองรับแรงงานทั้งหมด และการเตรียมการก่อนการแปรรูปในโรงงานอิสระไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่ง เอพีระบุว่า ผู้ส่งออกอาหารทะเลบางแห่งของไทยได้ปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานอย่างจริงจัง เช่น ไทย ยูเนียนที่เปิดโรงงานแกะกุ้งขนาดใหญ่และสะอาดถูกสุขอนามัย ว่าจ้างคนงาน 1,200 คน ที่ได้รับค่าอาหารและโอกาสในการรับโบนัส

เต็ต เปียง โอ้ คนงานพม่าวัย 23 ปี ยืนยันว่า เขาได้ขึ้นเงินเดือนและยังมีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ขณะที่เมื่อก่อนเคยทำงานวันละ 15 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุดนานถึง 6 ปี

ยู วา วัย 35 ซึ่งก็มาจากพม่า น้ำตาไหลเมื่อเล่าความหลังที่เคยทำงานแกะกุ้ง ซึ่งเธอต้องอยู่ภายในห้องที่ถูกล็อกกุญแจ และได้ค่าจ้างตามปริมาณกิโลกรัมที่ทำได้ ไม่ใช่คิดค่าจ้างรายวัน

เธอบอกว่า เธอได้รับการปฏิบัติที่ดีและนายจ้างก็ดี ที่นี่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น