สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเร่งยกระดับการผลิตมะพร้าวสู่มาตรฐาน GAP และออร์แกนิก สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพเสริมแกร่งการแข่งขัน พร้อมพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่าขยายทางเลือกผู้บริโภค ชี้โอกาสส่งออกเติบโตต่อเนื่องจากมูลค่าปัจจุบัน 3-4 พันล้านบาท
น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มะพร้าวเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยเฉพาะมะพร้าวสด หรือมะพร้าวอ่อนมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยแต่ละปีไทยมีการส่งออกมะพร้าวสดและผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวปีละ 3-4 พันล้านบาท มีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย เช่น น้ำมะพร้าวกระป๋อง ไอศกรีม พุดดิ้งมะพร้าว และใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบทำขนมป้อนตลาด เป็นต้น ช่วยผลักดันราคามะพร้าวเพิ่มสูงขึ้น สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรค่อนมากข้าง โดยมะพร้าว 1 ต้นสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนับ 1 หมื่นบาทต่อปี
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งส่งเสริมพัฒนายกระดับการผลิตมะพร้าวสดเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับมะพร้าวน้ำหอม หรือ GAP มะพร้าวน้ำหอม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้ามะพร้าวสดไทยในตลาดโลก
ปัจจุบันประเทศไทยมีแปลงปลูกมะพร้าวอ่อนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 1,622 แปลง เกษตรกร 1,578 ราย รวมพื้นที่กว่า 17,546.40 ไร่ จากที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 1,853 แปลง เกษตรกร 1,792 ราย พื้นที่ประมาณ 20,903.40 ไร่ โดยปีนี้ กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างตรวจรับรองมาตรฐานเพิ่มเติมอีกจำนวน 230 แปลง เกษตรกร 214 ราย พื้นที่ประมาณ 3,357 ไร่
“กระทรวงเกษตรฯ ยังเร่งส่งเสริมการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ หรือออร์แกนิก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพและมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ปรับลดต้นทุนการผลิตต่ำลง มีการจัดการที่ดีภายในฟาร์ม และผลิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลผลิตมะพร้าวจากสวนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น GAP หรือเกษตรอินทรีย์ จะมีโอกาสทางการตลาดสูงทั้งการจำหน่ายผลสดและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าว โดยปีนี้มะพร้าวสดมีราคาดีเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการตลาดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น”
น.ส.ดุจเดือนกล่าวอีกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา เติบโตมากขึ้น ทำให้มีการจ้างงานในท้องถิ่น การโยกย้ายถิ่นฐานลดลง และทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากจะส่งเสริมผลักดันสินค้ามะพร้าวให้ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังส่งเสริมด้านการตลาดด้วย โดย มกอช.ได้สนับสนุนการจัดโรดโชว์แสดงสินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ของไทยในต่างประเทศเพื่อช่วยขยายช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกรสามารถส่งออกมะพร้าวได้เพิ่มขึ้น
มกอช.ยังได้ประสานงานแจ้งกฎระเบียบของประเทศต่างๆ ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกทราบอย่างต่อเนื่อง เมื่อประเทศคู่ค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวรับกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และไม่สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
“มะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวของไทยได้เปรียบคู่แข่งอย่างประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นมะพร้าวน้ำหอมที่มีรสชาติดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้ลิ้มลองรสชาติ ทำให้มีโอกาสทางการตลาดสูง โดยเฉพาะตลาดส่งออกสหรัฐอเมริกาและจีน สังเกตจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยนิยมบริโภคน้ำมะพร้าวสดกันมาก ทำให้มะพร้าวสดขายได้ราคาดี ที่ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ ราคาผลละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ขณะที่การซื้อขายหน้าฟาร์มในปัจจุบันได้ยกระดับราคาเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรในการขายวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน รวมทั้งการขายในรูปผลสดแก่ผู้บริโภค หรือแปรรูปอย่างง่ายเพื่อเพิ่มมูลค่า”
น.ส.ดุจเดือนกล่าวในตอนท้ายว่า กลยุทธ์ที่สำคัญของการส่งออกมะพร้าวไทยคือ การสร้างความแตกต่างให้ปรากฏต่อสายตาผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์และสร้างแบรนด์สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำและดึงดูดใจผู้บริโภคในตลาดโลก
ทั้งนี้ จากสถิตินำเข้า-ส่งออกของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวอ่อน 123,808 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 3.2 แสนตัน ปริมาณที่ส่งออก 6 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 1.4 พันล้านบาท โดยส่งออกในภูมิภาคอาเซียน 22.471 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย โดยมีคู่แข่งคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ขณะเดียวกัน จากรายงานข้อมูลภาวการณ์ผลิตพืช (รต.02) ในปี 2558 ของกรมส่งเสริมการเกษตร กลุ่มพืชไม้ยืนต้น ชนิดพืชมะพร้าว ชนิดพันธุ์มะพร้าวอ่อน เรียงจากพื้นที่ให้ผลผลิต 5 อันดับแรกของประเทศ ได้แก่ 1. ราชบุรี เนื้อที่ปลูกทั้งหมด 32,163 ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 11.74 บาทต่อกิโลกรัม 2. สมุทรสาคร 17,030 ไร่ ราคา 10.32 บาท 3. ชลบุรี 12,522 ไร่ ราคา 9.41 บาท 4. ฉะเชิงเทรา 11,522 ไร่ ราคา 7.87 บาท 5. นครราชสีมา 6,703 ไร่ ราคา 13 บาท