xs
xsm
sm
md
lg

ม.44 ฟัน ขรก.รอบ 7 เน้นประมง - เจ้าท่า “ผู้การฯ ประจวบ - ชุมพร” โดนด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราชกิจจานุเบกษา เผยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 52/2559 ใช้อำนาจตาม ม.44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ล็อตที่ 7 งวดนี้ฟัน ประมง - เจ้าท่า - นายอำเภอ รวม 13 ราย มีตำรวจ 6 ผู้การฯ ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร ตำรวจน้ำ โดนด้วย และข้าราชการท้องถิ่น 2

วันนี้ (2 ก.ย.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 52/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 โดยระบุว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2558 เรื่อง แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น ลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558 นั้น

โดยที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบได้เสนอรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ เนื่องจากถูกร้องเรียน หรือกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ในพื้นที่ของตน หรือมีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและมีมูลอันสมควรตรวจสอบ จึงจำเป็นต้องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดมาตรการบางอย่างเพิ่มเติม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ผู้ที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 ข้าราชการพลเรือน ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว และไปปฏิบัติราชการประจำหน่วยงานนั้น ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

ข้อ 2 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 2 ข้าราชการตำรวจ ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการโดยไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมและให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นในสังกัดเดิม เป็นการชั่วคราว โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในศูนย์ปฏิบัติการ ในกองบัญชาการตำรวจแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบก็ได้

ข้อ 3 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 ผู้บริหารและผู้มีตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อ 4 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่หรือสถานที่ราชการอื่น ในจังหวัดนั้น ๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด แต่ต้องมิใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิม โดยไม่ต้องมีคำร้องขอ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจมอบหมายให้ผู้นั้นปฏิบัติงานตามความเหมาะสม ในกรณีนี้ มิให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินประจำตำแหน่งและสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราว ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 อันเนื่องจากการไปช่วยราชการตามคำสั่งนี้

ข้อ 5 ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุแห่งการตรวจสอบการปฏิบัติราชการของผู้นั้นให้หน่วยงานทราบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยต้องปรากฏผลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ศอตช. เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้นั้นหรือเพื่อดำเนินการทางวินัยต่อไป ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้รายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นแล้วแต่กรณีเพื่อขยายเวลาได้ ตามความจำเป็น ในกรณีที่ผลการตรวจสอบพบว่าผู้ถูกตรวจสอบมีความผิดตามที่ได้รับแจ้ง หรือมีความผิดประการอื่นที่เชื่อมโยงไปถึง ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและกฎหมายต่อไป ในกรณีที่ไม่พบว่า มีการกระทำความผิดหรือไม่ถึงขั้นต้องดำเนินการทางวินัย ให้เยียวยาแก่ผู้ถูกตรวจสอบโดยให้ไปดำรงตำแหน่งในระดับเดิมตามความเหมาะสม แต่ให้อยู่นอกพื้นที่เดิมก่อนเข้าสู่กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายในคราวต่อไป เมื่อดำเนินการใด ๆ ตามวรรคนี้แล้ว ให้แจ้ง ศอตช. ทราบ

ข้อ 6 ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อ 5 หากไม่พบว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ถึง ขั้นต้องดำเนินการทางวินัยให้ผู้บังคับบัญชาสรุปผลการตรวจสอบและพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วแจ้งให้ ศอตช. ทราบ ในการนี้ ให้ประธาน ศอตช. แต่งตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นข้าราชการ ไม่มีข้อขัดแย้ง หรือส่วนได้เสียกับบุคคลหรือเรื่องที่มีการกล่าวหา และไม่เคยเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้มาก่อนมีจำนวน 3 - 5 คน เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบผลการตรวจสอบเดิมของผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกตรวจสอบกับรายงาน หรือพยานหลักฐานที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง และให้มีอำนาจเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำได้โดยคณะบุคคลดังกล่าว อาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกตรวจสอบแต่ละรายหรือหลายรายพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ในกรณีที่ผลการตรวจสอบพบว่าการตรวจสอบของผู้บังคับบัญชาถูกต้องแล้ว หรือไม่มีเหตุอันควรเปลี่ยนแปลงใด ๆ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบไม่สอดคล้องกับผลการตรวจสอบเดิมของผู้บังคับบัญชา และมีเหตุอันควรเปลี่ยนแปลง ให้สรุปพยานหลักฐานที่มีอยู่และหารือร่วมกับผู้บังคับบัญชาแล้วให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามผลการหารือ โดยถือว่าการดำเนินการตามคำสั่งนี้ทุกขั้นตอนเป็นการดำเนินการทางวินัย โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับข้าราชการนั้น ๆ แต่ไม่ตัดสิทธิที่ผู้ถูกตรวจสอบจะอุทธรณ์ต่อไปตามกฎหมาย หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความผิดอาญาให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 7 เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 6 แล้ว ในกรณีไม่ปรากฏว่าผู้ถูกตรวจสอบมีความบกพร่องใด ๆ ในการปฏิบัติงาน หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หรือความผิดอาญา หรือมีความผิดวินัยแต่มิใช่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีเหตุอันควรงดโทษหรือรับโทษสถานเบาขั้นภาคทัณฑ์ ให้เยียวยาโดยให้ผู้ถูกตรวจสอบไปดำรงตำแหน่งในระดับเดิมตามความเหมาะสม แต่ให้อยู่นอกพื้นที่เดิม ยกเว้นผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ให้กลับไปดำรงตำแหน่ง หรือปฏิบัติหน้าที่เดิมได้ ทั้งนี้ ศอตช. อาจมีคำแนะนำการเยียวยาด้วยก็ได้ โดยคำนึงถึงข้อมูลความเหมาะสมเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่และพื้นที่ใหม่ การให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกตรวจสอบ และประโยชน์ของทางราชการประกอบกัน

ข้อ 8 ในกรณีจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงคำสั่ง หากปรากฏว่า ผู้มีรายชื่อตามคำสั่งยังคงถูกดำเนินการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ ศอตช. รอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจนกว่า จะแล้วเสร็จหรือได้รับแจ้งให้ดำเนินการเยียวยาไปก่อนได้ จึงจะสามารถเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการในกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คำว่า ผู้บังคับบัญชา ให้หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง และคำว่า รัฐมนตรี ให้หมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีเยียวยาบุคคลดังกล่าว ซึ่งไม่อาจไปดำรงตำแหน่งอื่นนอกพื้นที่ได้ นายกรัฐมนตรี อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้โดยให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิมได้

ข้อ 9 ในกรณีที่ชื่อและตำแหน่งของผู้มีรายชื่อตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ไม่ตรงตามทะเบียน ประวัติของทางราชการแต่เห็นได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ให้หน่วยงานต้นสังกัดแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามที่เป็นจริงในปัจจุบัน ข้อ 10 การรับเงินเดือน สิทธิประโยชน์ หรือประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ของผู้มีรายชื่อในกลุ่มต่าง ๆ ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ข้อ 11 ในกรณีมีปัญหา ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือส่วนราชการ เจ้าของเรื่องเสนอปัญหาและแนวทางดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัย คำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรี ให้เป็นที่สุด ข้อ 12 นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งหรือมติเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้ตามที่เห็นสมควร ข้อ 13 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ขณะที่บัญชีแนบท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 52/2559 ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ข้าราชการพลเรือน จำนวน 13 ราย ได้แก่ 1. นายสุชิน ธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร 2. นายสุริยะ โกพัฒน์ตา ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาประจวบคีรีขันธ์ 3. น.ต.ชัยศิริ ขุนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร 4. นายมนูญ ตันติกุล ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 5. นายสายันต์ เอี่ยมรอด ประมงจังหวัดชุมพร 6. นายธัญญพัฒน์ พัฑฒิคงพันธุ์ นายอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 7. นายปราโมทย์ วนิชาชีวะ ประมงอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 8. นายสุชาติ ยังทรัพย์ ประมงอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช 9. นายพชร ศรีมหาเอก เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ 10. นายสุปรีชา สุขเงิน หัวหน้าหน่วยบริหารจัดการประมงทะเลเกาะช้าง จังหวัดตราด 11. นายสุริยะ แพงดี เจ้าพนักงานประมงชำนาญการ ด่านตรวจสัตว์น้ำ จังหวัดตราด 12. นายประสงค์ เอี่ยมวิจารณ์ นักวิชาการขนส่งทางน้ำชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตราด 13. นายประเวศ อวิรุทธพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง จังหวัดพังงา

กลุ่มที่ 2 ข้าราชการตำรวจ จำนวน 6 ราย ไดแก่ 1. พล.ต.ต.กษณะ แจ่มสว่าง ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ 2. พล.ต.ต.นรินทร์ บุษยวิทย์ ผบก.ภ.จว.ชุมพร 3. พ.ต.อ. ธวัช สิทธิกิจโยธิน ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ 4. พ.ต.อ.สมชาย จันทร์คง ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ 5. พ.ต.อ.ภคพล ทวิชศรี ผกก.สภ.เมืองระนอง จ.ระนอง 6. พ.ต.ท.จเร รุ่งสาย สารวัตรตำรวจน้ำ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ

กลุ่มที่ 3 ผู้บริหารและผู้มีตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1 ราย ได้แก่ 1. นายสุริยันต์ ยิ่งบุรุษ ประธานสภาเทศบาลตำบลปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

กลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1 ราย ได้แก่ 1. นายณบวรพจน์ (พงศกร) ธวัชชัยวิรุตษ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น