xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ยังทรงตัว ห่วงปัจจัยเสี่ยงสินค้าเกษตร-หนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ธปท.แถลงภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ยังทรงตัวต่อเนื่อง ตามกำลังบริโภคของภาคเอกชน ขณะที่มาตรการพิเศษของรัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง จับตาปัจจัยเสี่ยงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่ง ถ่วงเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย

วันนี้ (2 พ.ย. 59) ที่ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จ.ขอนแก่นนายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ. เป็นประธานแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 และ 4 ประจำปี 2559 พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ธปท.สภอ. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ผู้แทนสถาบันการเงินพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขต จ.ขอนแก่น เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ.กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคอีสานไตรมาสที่ 3 ยังทรงตัวอย่างต่อเนื่องต่อจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ตามการบริโภคของภาคเอกชนที่ยังทรงตัว ด้านหมวดการใช้จ่ายประเภทสินค้าใช้ในชีวิตประจำวันปรับลดลงเช่นกัน อีกทั้งรายได้ภาคการเกษตรหดตัวลงเล็กน้อยอีกด้วย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรงตัวในระดับต่ำ การลงทุนของกลุ่มธุรกิจภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง และมีรายงานตัวเลขสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงตามราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ส่วนอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินของภาคอีสาน ไตรมาสที่ 3 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง ขณะที่เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอปรับลดลงเล็กน้อย หลังจากที่ขยายตัวสูงในไตรมาสก่อน มีเพียงกลุ่มเกษตรและผลผลิตเท่านั้นที่ขยายตัว เช่นเดียวกับการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หมู่บ้านละ 200,000 บาท สิ้นสุดโครงการในไตรมาสนี้โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณรวม 382.5 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตำบลละ 5 ล้านบาท ที่เบิกจ่ายงบประมาณไป 950 ล้านบาท อีกทั้งการเบิกจ่ายในงบลงทุนหมวดครุภัณฑ์ยังคงลดลง ขณะที่หมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างชะลอลงเล็กน้อย

นายสมชายกล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 4 ต้องดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยที่ความต้องการซื้อในตลาดโลกลดลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนใน 20 จังหวัดของภาคอีสานยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคของภาคเอกชนอย่างมาก แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งมาตรการพิเศษของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการหมู่บ้านละ 250,000 บาท รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นแรงส่งให้การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นระยะนี้
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น