สุรินทร์/ศรีสะเกษ - ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยโลละ 6.40-8 บาท พบชาวนาเมืองช้างนำข้าวเปลือกออกขายน้อยแก้เผ็ดเถ้าแก่โรงสีกดราคาต่ำสุดขีด โลละ 5-6 บาท ตามนำแนะนำของรัฐผ่านกำนันผู้ใหญ่ ด้านผู้ว่าฯ ศรีสะเกษย้ำชาวนาให้ชะลอการขายข้าวช่วงนี้ก่อน และเร่งช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล
วันนี้ (1 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด (สกต.สุรินทร์) ต.ตาอ็อง อ.เมือง จ.สุรินทร์ สถานที่เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ พันธุ์ กข.15 ของโรงสีขนาดใหญ่ที่จากจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ในขณะนี้ พบว่าพนักงานของโรงสีข้าวยังมีการรับซื้อข้าวเปลือกกันเป็นปกติ แต่มีเกษตรกรนำข้าวมาขายจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงแรกเริ่มเกี่ยวข้าวที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรชาวนาได้รับแจ้งจากกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ชะลอการขายข้าวเปลือกสดในช่วงนี้ไว้ก่อนเพราะได้ราคาต่ำ เพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท เท่านั้น และหากตากให้แห้งข้าวจะมีราคาสูงถึง 10 บาท ชาวนาจึงนำข้าวมาขายน้อยมาก
ทั้งนี้ โรงสีข้าวจากจังหวัดกาฬสินธุ์ดังกล่าวได้เปิดรับชื้อข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสดอย่างเดียว ไม่รับซื้อข้าวเปลือกตากแห้งซึ่งได้ราคาดีกว่า โดยอ้างว่าไม่มีที่จัดเก็บข้าวเปลือกที่ตากแห้งจึงต้องการเฉพาะข้าวเปลือกสดเพื่อนำไปอบแห้งอย่างเดียว และง่ายต่อการนำไปสีแปรรูปพร้อมกันทั้งหมด โดยรับชื้อในราคา กิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น
ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตามโรงสีต่างๆ ใน จ.สุรินทร์ ได้รับชื้อทั้งข้าวเปลือกสดและข้าวเปลือกตากแห้ง กิโลกรัมละ 6.40-8 บาท ตามคุณภาพข้าว ความชื้น สิ่งเจือปน และคาดว่าราข้าวเปลือกหอมมะลิจะขยับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ตามนโยบายแก้ไขปัญหาราคาข้าวของรัฐบาลในเร็วๆ นี้
ทางด้าน จ.ศรีสะเกษ ที่ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าว ระดับ จ.ศรีสะเกษ ครั้งที่ 1/2560 เพื่อติดตามกำกับดูแลแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ตามโครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2559/2560 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกรเพื่อการแปรรูป และโครงการสินเชื่อชะลอการข้าวนาปี ให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว ปี 2559/2560 รวมทั้งหมด 1,489,210 ไร่ มีพื้นที่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน จำนวน 521,224 ไร่ ซึ่งคณะอนุกรรมการติดตาม กำกับดูแล การบริหารจัดการข้าว ระดับ จ.ศรีสะเกษ จะต้องเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ให้ชะลอการขายข้าวเปลือกไว้ก่อนในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/2560 ตามข้อสั่งการของรัฐบาลต่อไป