xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สุ่มตรวจคุณภาพน้ำบางปะกง ไม่พบเป็นสาเหตุกระเบนตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจคุณภาพน้ำบางปะกง
ฉะเชิงเทรา - เจ้าหน้าที่กรมประมงสุ่มตรวจคุณภาพน้ำบางปะกง ไม่พบเป็นสาเหตุกระเบนตาย ชี้น้ำใกล้ปากอ่าวจืดสนิทจนความเค็มใกล้เป็นศูนย์ คาดอาจเกิดจากพื้นที่ทางตอนบนมีการระบายน้ำที่มีคุณภาพต่ำลงมา

จากกรณีพบปลากระเบนเจ้าพระยาขนาดยักษ์ ยาวเกือบ 3 เมตร ในอ่าวลุ่มน้ำบางปะกงตาย แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ล่าสุด วันนี้ (29 ต.ค.) นายกฤษณ์ธนสรรค์ อินทร์บำรุง นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งฉะเชิงเทรา กรมประมง เขต 1 กล่าวถึงผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในลำน้ำบางปะกง จากการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำรวม 4 จุด ตลอดแนวลำน้ำบางปะกง หลังพบว่า มีปลากระเบนเจ้าพระยาขนาดใหญ่ ที่มีความยาวถึง 2.94 เมตร ขึ้นมาเกยตื้นตายที่บริเวณชายฝั่งใกล้ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อวานนี้ว่า

ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่ได้ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 4 จุด ทั้งจากในพื้นที่ อ.คลองเขื่อน อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บางปะกง และที่บริเวณสะพานเทพหัสดิน ถนนบางนา-ตราด ใกล้กับบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงอีก 1 จุด ปรากฏว่า ผลจากการตรวจทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บออกมาแล้วพบว่า น้ำในลำน้ำบางปะกงนั้นมีค่าความเค็มเป็น 0 เกือบตลอดทั้งลำน้ำ

ส่วนน้ำในแม่น้ำบางปะกง ที่บริเวณใต้สะพานเทพหัสดิน ในเขต อ.บางปะกง นั้น มีลักษณะของการแบ่งชั้นกันระหว่างผิวน้ำและใต้น้ำ โดยน้ำชั้นด้านบนผิวน้ำนั้นมีค่าความเค็มเป็นศูนย์ แต่น้ำที่ชั้นล่างมีค่าความเค็มอยู่ที่ระดับ 10-15 ต่อพันส่วน จึงเชื่อว่าสาเหตุที่มีการพบปลากระเบนเจ้าพระยา หรือกระเบนราหูในลุ่มน้ำบางปะกงตายนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ พื้นที่ทางตอนบนได้มีการปล่อยระบายน้ำลงมา

โดยน้ำจากทางตอนบนนั้นเป็นน้ำที่มีคุณภาพต่ำ หรือน้ำเสีย หรือเป็นน้ำที่มีค่าของออกซิเจนในน้ำน้อย ไหลลงมายังปากอ่าวในอัตราส่วนร้อยละ 20 (มีน้ำเสียถูกระบายปนมา 20%) จึงได้ส่งผลทำให้ปลากระเบนที่อยู่ในลำน้ำนั้นได้พากันหนีน้ำเสียลงไปในทะเล จนทำให้เกิดภาวะหลงน้ำ เพราะปลากระเบนราหู หรือกระเบนเจ้าพระยานั้น เป็นปลากระเบนน้ำจืด และสามารถอยู่ได้ในน้ำกร่อยที่มีค่าความเค็มประมาณ 5-10 ต่อพันส่วนเท่านั้น จึงทำให้กระเบนที่หลงน้ำลงไปอยู่ในทะเลนั้นเกิดการอ่อนเพลีย และพยายามที่จะกลับเข้าฝั่งมาจนมาหมดแรงเกยตื้นตายที่บริเวณตามแนวชายฝั่งดังกล่าว

นายกฤษณ์ธนสรรค์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน หลังน้ำเสีย หรือน้ำที่มีค่าออกซิเจนต่ำผ่านเลยลงทะเลไปแล้ว โดยยังไม่พบสัตว์น้ำ หรือกระเบนเจ้าพระยาลอยกลับเข้ามาเกยตื้นตายเพิ่มอีก จึงน่าจะเบาใจลงไปได้บ้างแล้วในระดับหนึ่ง แต่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งฉะเชิงเทรา ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังในการตรวจวัดคุณภาพน้ำต่อไป และเตรียมบ่อพักฟื้นเอาไว้รองรับอีกระยะหนึ่งด้วย เนื่องจากยังคงมีน้ำเสีย หรือน้ำคุณภาพต่ำจากทางตอนบนที่ยังรอการระบายลงมาอีกเป็นจำนวนมาก
ตรวจทั้งสิ้น 4 จุด ไม่พบเป็นสาเหตุกระเบนตาย
กำลังโหลดความคิดเห็น