จันทบุรี - อำเภอโป่งน้ำร้อน ร่วมกับ สมาคมการค้าการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี เร่งแก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนลำไยไม่ได้รับความเป็นธรรม เรื่องระยะเวลาการเก็บผลผลิตไม่ชัดเจน และทำสัญญาทับซ้อน หวั่นส่งผลกระทบต่อการส่งออก
วันนี้ (22 ต.ค.) นายพีรณัฐ รัตนวรโอภาส นายอำเภอโป่งน้ำร้อน นาวาเอกจาริก พัวพานิช รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจันทบุรี นาวาเอกทวี วงศ์วาน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินจันทบุรี ตัวแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา นายพงษ์ศักดิ์ หลิวทวีสีประกาย นายกสมาคมชาวสวนลำไยจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยเกษตรกรชาวสวนลำไย และผู้ประกอบการล้งรับซื้อลำไยส่งออก เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานตลาดการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี
การจัดประชุมในครั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่มีเกษตรกรซึ่งประกอบอาชีพทำสวนลำไย ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดระยะเวลาการเก็บผลผลิตไม่ชัดเจน ทำสัญญาทับซ้อน จึงจัดให้มีการประชุมร่วมในการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการชาวสวนลำไย และผู้ประกอบการล้งลำไยส่งออก โดยส่วนราชการทุกภาคส่วนและภาคเอกชน ครั้งที่ 4 ประจำปี 2559 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปประเด็นปัญหา และวิธีการแก้ไข
โดยสถานการณ์การซื้อ-ขายลำไยของจังหวัดจันทบุรี พื้นที่ปลูกลำไยในจังหวัดจันทบุรี ประมาณ 140,000 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 130,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท ช่วงเดือนเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 ลักษณะการซื้อขายลำไยเป็นการซื้อล่วงหน้าโดยมีผู้ค้า (ล้ง) เข้าไปรับซื้อถึงสวน สำหรับปี 2558 ยังคงมีการซื้อขายล่วงหน้าเฉลี่ยทำสัญญากันที่กิโลกรัมละ 35-40 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามคุณภาพ เริ่มตั้งแต่เบอร์ 1-4
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ หลิวทวีสีประกาย นายกสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำสวนลำไยของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และสอยดาว ในส่วนของล้งรับซื้อลำไย ซึ่งมีทั้งของคนไทย และคนจีนที่รับซื้ออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นล้งของคนจีนมากกว่าคนไทย ที่ผ่านมา 2 ปี มีลักษณะการฟ้องร้องกันในเรื่องการขายผลผลิต ได้แก่
1.เกษตรกรที่ขายลำไยให้แก่ล้ง ซึ่งเกษตรกรรายเดียวขายให้แก่ล้งหลายรายซ้ำซ้อน 2.ผู้เช่าสวนได้นำใบเช่าไปขายให้แก่ล้งหลายแห่งซ้ำซ้อน 3.ปัญหาระหว่างเกษตรกรกับล้งลำไยซึ่งได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายกัน ซึ่งในสัญญาส่วนใหญ่จะระบุว่า เกษตรกรจะเป็นผู้ดูแลสวนลำไยให้ผลผลิตมีคุณภาพ ตามเกรดที่กำหนดไว้ ราคาตามฤดูกาลที่ราดสารลำไย แต่มีปัญหาในเรื่องการเก็บลำไย พบว่า บางช่วงลำไยออกดอกไม่พร้อมกันแต่ละแปลง เมื่อล้งมาเก็บลำไยจะเลือกเก็บเฉพาะเบอร์ใหญ่ เหลือผลผลิตลำไยเบอร์เล็กไม่กลับมาเก็บอีก ทำให้มีผลผลิตตกค้างอยู่ในสวน 4.เกษตรกรบางสวนทำผลผลิตลำไยไม่ได้คุณภาพซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสภาพอากาศ และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้เกิดข้อพิพาทล้งไม่ไปเก็บลำไย
5.ปัญหานายหน้าที่รับซื้อ ทำสัญญาซื้อขายให้แก่ล้งคนจีน โดยไปทำสัญญาเป็นผู้ซื้อตัวแทนล้งคนจีน มาซื้อลำไยเป็นจำนวนมาก และมีการผิดสัญญาโดยมีการกล่าวอ้างว่านายหน้าคนไทยโกงเงินล้งคนจีน โดยไปเก็บลำไยเอง และไม่ส่งมอบให้คนจีน หรือส่งมอบให้ไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ จากยอดเงินที่รับไว้ล่วงหน้าส่งผลถึงเกษตรกรที่ทำสัญญากับผู้ซื้อคนไทย เพราะบางรายก็มีการเปลี่ยนสัญญาใหม่กับล้งคนจีนโดยตรง ถึงเวลาเก็บลำไยก็มีการแย่งกันเก็บลำไยระหว่างนายหน้า และล้งคนจีน ทำให้เกิดข้อพิพาทกันในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว
ด้านผู้แทนอัยการจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงปัญหา หรือแนวทางในการดำเนินคดีเกี่ยวกับลำไยของจังหวัดจันทบุรีนั้น สามารถแยกปัญหาได้ 5 รูปแบบ คือ 1.เกษตรกรชาวสวนขายให้แก่ล้งหลายล้ง 2.ผู้เช่าสวนขายให้แก่ล้งหลายล้ง 3.เกษตรกรชาวสวนไม่มีสวนลำไยของตนเองแต่กล่าวอ้างเท็จต่อล้งโดยไปชี้สวนคนอื่นให้ล้งดู 4.นายหน้านำสัญญาซื้อไปขายให้แก่ล้งหลายล้ง 5.คนไทยเป็นนอมินีของล้งคนจีน ได้นำเงินของคนจีนมาล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ส่งมอบลำไยให้ตามข้อตกลง
สำหรับตัวแทนสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี ได้กล่าวพร้อมแนะวิธีแก้ปัญหาระหว่างชาวสวนกับผู้ประกอบการล้งในการทำสัญญาซื้อ-ขาย ควรระบุชื่อผู้ซื้อ-ขาย พร้อมเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และระบุชื่อล้งไปด้วย นอกจากนั้น ในสัญญาซื้อขายต้องระบุเลขทะเบียนการค้าของล้งด้วย และตั้งกรรมการของสมาคมฯ เพื่อเป็นคนกลางที่คอยดูแลแก้ปัญหาระหว่างล้งกับเกษตรกร