xs
xsm
sm
md
lg

“จิตอาสากิจกรรมบำบัด” งานอาสาจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



“กิจกรรมบำบัด” (Occupational Therapy) เป็นหนึ่งในวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เราอาจไม่คุ้นชื่อนัก แต่อีกหลายคนอาจเคยหรือมีญาติพี่น้องเข้ารับบำบัดมาบ้างแล้วก็ได้
งานหลักของนักกิจกรรมบำบัดก็คือ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยกลับมามีสมรรถภาพ มีความเป็นอยู่ที่ดี หรือดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้ กระบวนการบำบัดนั้นจะเน้นทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจพร้อมกัน ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงคนอื่นหรือเด็กออทิสติกก็ตาม โดยอาศัยกิจกรรมเป็นสื่อในการพัฒนาหรือรักษา
หากแพทย์รักษาคนไข้ด้วยยา นักกิจกรรมบำบัดก็จะรักษาผู้ป่วยด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ นั่นเอง
ปัจจุบันสังคมไทยได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว หลายรายกลายเป็นคนป่วยติดเตียง ต้องพึ่งพาผู้อื่น ด้วยเหตุนี้นักกิจกรรมบำบัดจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในระบบสุขภาพ แต่ดูเหมือนบุคลากรสาขานี้ที่ผลิตจากสถาบันอุดมศึกษาเพียงสองแห่งเท่านั้น (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมหิดล) เหมือนจะไม่ทันการณ์ ขณะที่ในเวลานี้มีนักกิจกรรมบำบัดทั่วประเทศราว 1,000 คนเท่านั้น ในขณะที่ความต้องการของผู้ป่วยด้านนี้เพิ่มปริมาณขึ้นหลายเท่า
อบรมเชิงปฏิบัติการที่ศูนย์บริการคนพิการทางจิตใจ สายใยครอบครัว
“โครงการจิตอาสากิจกรรมบำบัด” จึงเกิดขึ้นโดย ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ประธานสาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่าบุคลากรด้านนี้ควรเริ่มทำงานในเชิงรุก มากกว่าจะตั้งรับในโรงพยาบาลระดับจังหวัดหรือโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้งานกิจกรรมบำบัดเข้าไปยังบ้านหรือชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นมุ่งไปยังผู้ดูแลคนป่วยทั้งที่เป็นเด็กออทิสติก คนพิการหรือผู้สูงอายุ ในก้าวเข้ามาเป็นจิตอาสา เริ่มจากดูแลคนใกล้ตัวแล้วต่อเนื่องไปยังคนรอบข้าง ซึ่งต้องมาเข้ารับอบรมกับนักกิจกรรมบำบัดสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
หลักสูตรเพื่ออบรมเชิงปฏิบัติเพื่อถ่ายทอดวิธีการบำบัดฟื้นฟู ทั้งด้านกิจกรรม อุปกรณ์และวิธีการแก่จิตอาสา โดยเริ่มแรกผ่านทางชุมชนหรือกลุ่มคนต่างๆ แล้วยังพยายามเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้จากอาจารย์สาขาส่งผ่านไปยังนักศึกษากิจกรรมบำบัดและนักศึกษากายภาพบำบัดอีกด้วย เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดจิตสำนึกและเกิดทักษะที่พร้อมจะทำหน้าที่จิตอาสาในโครงการกิจกรรมบำบัดต่อไป

ทั้งนี้ ทางโครงการได้จัดอบรมเบื้องต้นไปแล้วที่
- เครือข่ายบ้านแม่นก กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลเด็กสมองพิการซ้ำซ้อน เพื่อติดตามพัฒนาการทักษะชีวิตของเด็กสมองพิการซ้ำซ้อน 30 ราย พบว่ามีคะแนนสุขภาพหลังความพิการ 60% และคะแนนสุขภาวะทางจิตของผู้ปกครอง (ได้จิตอาสา 10 คน) 80% (ก่อนการฝึกอบรมมีคะแนน 40% และ 60% ตามลำดับ)
-ศูนย์บริการคนพิการทางจิต สายใยครอบครัว จ.นนทบุรี เพื่อติดตามพัฒนาการทักษะการดำรงชีวิตของผู้มีประสบการณ์สุขภาพจิต 30 ราย พบว่า มีคะแนนสุขภาพหลังความพิการ 70% และคะแนนสุขภาวะทางจิตวิญญาณของผู้ดูแล (ได้จิตอาสา 10 คน) 80% (ก่อนการฝึกอบรมมีคะแนน 60% และ 70% ตามลำดับ)
-กลุ่มผู้สูงอายุชุมชน รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม เพื่อติดตามพัฒนาการทักษะชีวิตของผู้สูงอายุที่ต้องติดบ้าน/ติดเตียง 10 ราย และเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ 20 ราย พบว่า มีคะแนนสุขภาพหลังความพิการ 70% และคะแนนสุขภาวะทางจิตวิญญาณของผู้ดูแล (ได้จิตอาสา 4 คน) 70% หลังการฝึกอบรม (ก่อนการฝึกอบรมมีคะแนน 50% และ 50% ตามลำดับ)
ทางโครงการยังได้วางเป้าหมายในอนาคตต่อไปว่า ที่ศูนย์บริการคนพิการทางจิต สายใยครอบครัว จะพยายามเพิ่มทักษะจิตอาสากิจกรรมบำบัดที่มีอยู่แล้ว พร้อมกับเพิ่มจำนวนจิตอาสาฯ ให้มีอย่างน้อย 30 คน และที่เครือข่ายบ้านแม่นก จะพยายามเพื่อจำนวนจิตอาสาฯพร้อมติดตามผล ให้ได้อย่างน้อย 20 คน
นอกจากนี้ ทางอาจารย์ยังได้เชื่อมโยงโครงการเข้ากับการเรียนรู้ของนักศึกษา จนสามารถจัดการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษากิจกรรมบำบัดได้ 4 รายวิชา รวม 54 คน และนักศึกษากายภาพบำบัดได้ 2 รายวิชา รวม 110 คน เพื่อหวังให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดจิตสำนึกและทักษะในการเป็นจิตอาสากิจกรรมบำบัดไปพร้อมกันด้วย
ด้วยฐานะบุคลากรในมหาวิทยาลัยรัฐ ย่อมต้องมีภาระงานต่างๆ มากมาย ทั้งงานสอน งานวิจัย ให้บริการวิชาการและบริการทางคลินิก การปลีกตัวมาทำโครงการซึ่งถือเป็นงานบริการสังคมนั้น มิใช่เรื่องง่าย “กองทุนรวมคนไทยใจดี” เห็นถึงความตั้งใจที่จะนำองค์ความรู้ไปรับใช้สังคม เพื่อ “ต่อชีวิตให้คนไทย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านสุขภาพที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น
เราจึงได้เข้าร่วมสนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ ตามแนวทางของสาขาวิชากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมกันช่วยลดภาระของสังคมและครอบครัวไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น