xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเยาวชนฯ ระบุ “สาวซีวิค” เฉี่ยวรถตู้ 9 ศพ บริการสังคมช่วยผู้ป่วยครบ 138 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลเยาวชนฯ รับรายงานพนักงานคุมประพฤติแจ้งผล “สาวซีวิค” เฉี่ยวรถตู้ตาย 9 ศพ ทำกิจกรรมบริการสังคมครบ 138 ชั่วโมงแล้วใน รพ.ไทรน้อย แผนกฉุกเฉิน-ช่วยเหลือผู้ป่วยไร้ญาติ

วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.40 น. ศาลนัดพร้อมเพื่อฟังผลการทำกิจกรรมบริการสังคมของ น.ส.แพรวา (นามสมมติ) เยาวชนหญิง จำเลยคดีหมายเลขดำ 1233/2554 หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลได้ไต่สวนคำร้องของเจ้าพนักงานคุมประพฤติที่ขอให้ศาลพิจารณากรณีเยาวชนหญิง จำเลยผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติในการบำเพ็ญประโยชน์ คดีขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารสายธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-หมอชิต บนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เมื่อค่ำวันที่ 27 ธ.ค. 2553 เป็นเหตุให้คนขับรถตู้และผู้โดยสารเสียชีวิต รวม 9 ราย โดยหลังจากกการไต่สวน จำเลยผู้ถูกคุมประพฤติได้แถลงต่อศาลว่าเข้าใจผิดพลาดต่อกระบวนการและสถานที่ในการบำเพ็ญประโยชน์ จึงขอทำกิจกรรมบริการสังคมใหม่ให้ครบถ้วน รวม 138 ชั่วโมง

โดยสำนักงานคุมประพฤติได้จัดทำรายงานผลการคุมประพฤติของจำเลยส่งศาลแล้ว ระบุว่าจำเลยได้ทำงานบริการสังคมกับหน่วยงานภาคีที่โรงพยาบาลไทรน้อย จ.นนทบุรี ในงานแผนกผู้ป่วยด้านการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ งานในห้องฉุกเฉินที่ช่วยเฉพาะลักษณะงานเบื้องต้น รวมทั้งการออกพื้นที่ด้วยการนั่งรถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วยนอก โดยดำเนินการทำงานบริการสังคมตั้งแต่ 27 มิ.ย.เป็นต้นมา วันละ 6 ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลาทั้งหมด 138 ชั่วโมง ซึ่งมีพนักงานคุมประพฤติไปตรวจสอบดูแลประจำทุกวัน ทั้งนี้ จำเลยได้แถลงต่อศาลว่าไปทำกิจกรรมบริการสังคมตามคำพิพากษาศาลแล้วจริง

ศาลพิเคราะห์รายงานและคำแถลงของคู่ความแล้ว เห็นว่าจำเลยได้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและทำกิจกรรมบริการสังคมครบถ้วนแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ให้บันทึกไว้เป็นรายงานกระบวนพิจารณาในคดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2555 ว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี โดยคุมประพฤติจำเลย 3 ปี และให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน พร้อมให้ทำงานบริการสังคมโดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง รวมทั้งห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้แก้ระยะเวลาการรอลงอาญาเป็น 4 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี โดยให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลา 3 ปี ส่วนโทษอื่นให้คงตามศาลชั้นต้น ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวถือเป็นที่สุด เมื่อศาลฎีกา มีคำสั่งปี 2558 ไม่รับฎีกาของจำเลย เนื่องจากไม่มีสาระสำคัญจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิม

ขณะที่คดีแพ่งที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวยื่นฟ้องบิดา-มารดาของเยาวชน และตัวเยาวชนต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำ 4013/2554 เรียกค่าเสียหาย 113 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 ให้จำเลยทั้งสามชดใช้เงินแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเงินรวม 26,881,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น