xs
xsm
sm
md
lg

พ่อหลวง ร.๙ เสด็จฯ “บ้านผาหมี” ถึง 3 ครั้ง แม้ต้อง “ทรงลา” รักษาชุมชนยุทธศาสตร์ชายแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย/เชียงใหม่ - เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ “พ่อหลวง ร.๙” ทรงลา เสด็จฯ ชายแดนไทย-พม่า ถึง 3 ครั้ง รักษาชุมชนยุทธศาสตร์ที่เคยเต็มไปด้วยปัญหาทุกรูปแบบ ขณะที่คนแม่วาง เชียงใหม่ สุดซาบซึ้ง มี “ศาลารวมใจ-โรงทอผ้าพระราชทาน” ทอผ้ายกลายส่ง “ร้านจิตรลดา” นานกว่า 40 ปี

วันนี้ (20 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในบันทึกพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นานัปการนั้น เรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนิน “บ้านผาหมี” หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หมู่บ้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดนไทย-พม่า ที่เคยมีปัญหาทุกรูปแบบ ถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2514 ปี 2516 และปี 2517 อันแสดงให้เห็นถึงพระเมตตาที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย

นายมนตรี พฤกษาพันธุ์ทวี หรือซาเจ๊ะ หม่อโป๊ะกู่ อดีตผู้ใหญ่บ้านผาหมี ผู้เคยถวายงานเมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนหมู่บ้านผาหมีทั้ง 3 ครั้ง กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้เดิมเคยเป็นสถานที่สู้รบระหว่างกองกำลังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีความเสี่ยงต่อความมั่นคง และยาเสพติด มีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง 35 ครัวเรือน สภาพหมู่บ้านเป็นสันเขาสูง การเดินทางลำบาก ต้องใช้ม้า ลา หรือล่อในการเดินทาง ชาวบ้านไม่มีอาชีพที่แน่นอนเพราะต้องหนีภัยสู้รบ และเกือบจะย้ายหมู่บ้านไปแล้ว แต่เนื่องจากพระบารมีจึงอยู่กันได้จนถึงปัจจุบัน

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนบ้านผาหมีในสมัยนั้น พระองค์ท่านต้องทรงลาเข้าหมู่บ้าน และทรงเยี่ยมเยียนราษฎร เพราะเส้นทางคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งในหมู่บ้านก็มีการติดภาพประวัติศาสตร์เอาไว้ด้วย

จากนั้นได้พระราชทานสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และพันธุ์พืช และสร้างเส้นทางคมนาคมสู่หมู่บ้านผาหมี ทำให้ปัจจุบันมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวน 324 ครัวเรือน ประชากร 681 คน มีอาชีพการปลูกกาแฟ ชา และพืชตามฤดูกาล ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สภาพยังมีความสวยงามทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ.เชียงราย ในปัจจุบัน

ซาเจ๊ะ หม่อโป๊ะกู่ อดีตผู้ใหญ่บ้านผาหมี กล่าวอีกว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างความเสียใจให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านผาหมีเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างหมู่บ้านและดูแลความเป็นอยู่ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้มาตลอด

“หากไม่มีในหลวง ก็คงไม่มีหมู่บ้านผาหมี พวกเราจึงพูดไม่ออก และเสียใจมาก จึงจะทำความดีเพื่อถวายพระองค์ท่านต่อไป”

ส่วนที่เชียงใหม่ อีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากพระเมตตา “พ่อหลวง” คือ ศาลารวมใจและโรงทอผ้าพระราชทาน บ้านดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ (เดิมอยู่ในเขต อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่) ซึ่งผ่านมากว่า 40 ปีชาวบ้านยังคงทอผ้าไหม และผ้าฝ้ายแบบยกดอกลำพูน จัดจำหน่ายผ่านร้านจิตรลดา จนถึงทุกวันนี้

นายบุญเรือน เต๋จา อายุ 62 ปี ผู้ดูแลศาลารวมใจและโรงทอผ้าพระราชทาน เปิดเผยว่า ตอนเปิดศาลารวมใจตนยังเป็นหนุ่มอายุ 25 ปี เป็นสมาชิกของลูกเสือชาวบ้าน และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านกับสมเด็จพระราชินี ซึ่งสมัยนั้นลูกเสือชาวบ้านได้ตามเสด็จหลายครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาเชียงใหม่

กระทั่งพระองค์มีพระเมตตาพระราชทานสร้างศาลารวมใจพระราชทานในพื้นที่รกร้างหน้าวัดดอนเปา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพ เป็นแหล่งรักษาคนในพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่ไปเรียนการพยาบาลรักษากับหมอหลวง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมตำราหนังสือความรู้ต่างๆ ที่ตอนนี้จะเป็นแหล่งอนุสรณ์แห่งความทรงจำ และความจงรักภักดีของพสกนิกรที่มีต่อพระองค์ท่าน

ด้านนางสาววันดี เป็งอ้าย อายุ 51 ปี ช่างทอผ้า กล่าวว่า โรงทอผ้านี้เป็นโรงทอผ้ายกลาย ทั้งผ้าไหม และผ้าฝ้าย มีคนงานซึ่งเป็นชาวบ้านมาฝึก และทำอาชีพจำนวน 20 คน และที่โรงปักอีก 4 คน โดยหลังทราบข่าวแล้วตนรู้สึกเศร้าเสียใจที่สุดในชีวิต ทำอะไรไม่ถูก และขอยืนยันจะทำหน้าที่นี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้ทรงสร้างโรงงานทอผ้าแห่งนี้ขึ้นมา









กำลังโหลดความคิดเห็น