ระยอง - “กอสส.” จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตตัวเมืองระยอง ก่อนพิจารณาเห็นด้วยหรือไม่กับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี แห่งที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ฝากรัฐบาลระวังโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลของ จ.ระยอง
วันนี้ (11 ต.ค.) ว่าที่ ร.ต.สุรพล ดวงแข รองประธานองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. พร้อมด้วย ร.ต.อ.วิธท์ สุวรรณฑัต ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กอสส. รวมถึงนักวิชาการในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หน่วยผลิตที่ 3 ของบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ณ อาคารศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดหนองสนม ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง โดยมีผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเข้าร่วม
การประชุมดังกล่าวเป็นการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บีแอลซีพี โรงที่ 3 ขนาดพื้นที่ 273 ไร่ ของบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัส มีซัลเฟอร์ในถ่านหินไม่เกินร้อยละ 1 ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี หรือ 10,000 ตันต่อวัน และมีกำลังการผลิต 1,100 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ เหลืออีก 100 เมกะวัตต์
ดร.กฤษฎา ให้วัฒนานุกูล นักวิชาการกล่าวว่า กอสส.ได้จัดเวทีรับฟังภาคประชาชน 3 เวที ซึ่งในครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 ตุลาคม และครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมที่จะถึงนี้ และในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และผู้ประกอบการ ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการรับฟังความคิดเห็นในการพิจารณาโครงการฯ
“จากนั้นคณะกรรมการจะนำข้อมูลทั้งหมดไปพิจารณาเป็นรายบุคคลรวม 12 ท่าน ว่า แต่ละท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อสรุปว่าจะเห็นควรอนุญาตหรือไม่ ก่อนเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องการอนุญาตต่อไป” ดร.กฤษฎา กล่าว
ด้าน นายเฉลิมพร กล่อมแก้ว เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่า เบื้องต้น ขอฝากคณะกรรมการ กอสส.ไปยังรัฐบาลว่า ปัจจุบันทั่วโลกลดการใช้พลังงานถ่านหิน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บีแอลซีพี แห่งที่ 3 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,100 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นบ่อเก็บตะกอนจากการปรับพื้นที่ครั้งก่อนประมาณ 273 ไร่ ของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีปัจจุบัน และจะมีการขุดลอกตะกอนนับล้านตันขนไปทิ้งยังจุดทิ้งตะกอนในทะเลห่างจากฝั่งประมาณระยะทาง 23 กิโลเมตร ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลระยองอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาโครงการดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง